Starting a Business
Life Forest จานเซรามิกสไตล์วินเทจ ธุรกิจปั้นทำเงินของสาวรักศิลปะ
เมื่องานอดิเรกที่เป็นรายได้เสริม มีทีท่าจะไปได้ดีจนแทบไม่มีเวลามาทำ สองสาวเพื่อนรัก กอฝ้าย-อรอนงค์ หนุนภักดี และ จูน-ชลภัสสรณ์ วชิระบำรุงเกียรติ ที่ร่วมกันรังสรรค์งานเซรามิก จึงตัดสินใจออกจากงาน มาเปลี่ยนงานอดิเรกที่รักให้เป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ภายใต้แบรนด์ Life Forest
ทั้งกอฝ้ายและจูนต่างหลงรักงานศิลปะ แต่ทั้งคู่มีความถนัดกันคนละด้าน กล่าวคือ กอฝ้ายร่ำเรียนมาทางด้านเซรามิก ส่วนจูนชำนาญการวาดภาพ ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ชื่นชอบธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์และดอกไม้ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการนำภาพวาดของสัตว์มาใส่ไว้ในจานสไตล์วินเทจที่สวยงาม
“ตอนแรกเราทำกระถางต้นไม้ขึ้นมาก่อนเพราะอยากปลูกต้นกระบองเพชร กอฝ้ายเรียนมาทางด้านเซรามิก ส่วนจูนเรียนมาทางศิลปกรรม เริ่มจากความชอบทำเป็นงานอดิเรก และก็ค่อยๆ เอาไปขายผ่านออนไลน์ ทีนี้ทำไปแล้วรู้สึกว่าเรามีความสุขมากกว่าที่จะทำงานประจำ ที่สำคัญคือ ไม่มีเวลา แล้วเราอยากจะมาลุยกับมันให้เต็มที่ เลยลาออกมาสร้างแบรนด์ Life Forest แต่ตอนแรกก็ล้มลุกคลุกคลานมาก เพราะเราไม่มีเงินทุนเยอะ ใช้เงินตัวเอง ต้องเปิดรับงานออร์เดอร์อื่น เพื่อเอาเงินส่วนนั้นมาต่อยอดทำแบรนด์ของตนเอง”
กอฝ้ายและจูนเริ่มต้นชิ้นงานแรกจากกระถางต้นไม้ ถัดจากนั้นจึงมาทำจานสไตล์วินเทจ ที่มีโทนสีเหมือนของเก่า และมีรูปลายเส้นของต้นไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยทั้งคู่ชอบเดินทางท่องเที่ยวในผืนป่า และบันทึกสิ่งที่พบเจอลงในสมุด ภาพเขียน ภาพถ่าย ดังนั้น เมื่อมาปั้นจานจึงเปลี่ยนให้จานนั้นเป็นเสมือนสมุดบันทึกเก่าๆ โดยใช้สีเคลือบออกเหลืองๆ ดูเป็นวินเทจ และวาดภาพสัตว์แสนสวยเหล่านี้ลงไป เป็นการเก็บความทรงจำไว้ในจาน แถมยังได้ถ่ายทอดสู่ผู้อื่นอีกด้วย และนี่จึงสไตล์ของ Life Forest ที่ไม่เหมือนใคร
“ทุกคนก็ถามทำไมเป็นสีนี้ เป็นของเก่าหรือเปล่า พอเกิดความสงสัยเลยทำให้เข้ามาถาม แล้วก็ได้พูดคุยซื้อจานของเรา เพราะไม่ค่อยมีคนทำสไตล์แบบนี้ นอกจากที่เราจะทำภายใต้แบรนด์ Life Forest ก็ยังรับ Made to Order ด้วย ลูกค้าจะสั่งลายอื่น ใส่โลโก้ อย่างที่ผ่านมามีร้านอาหารที่สิงคโปร์ ก็มาสั่งให้เราทำจานถึง 2,000 ใบ”
กอฝ้ายอธิบายเพิ่มเติมถึงกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าจะได้งานที่สมบูรณ์ว่า การทำงานเซรามิกต้องใช้เวลา ต้องใส่ใจ จะลัดขั้นตอนไม่ได้ และถ้าร้าวเพียงนิดเดียวก็ถือเป็นของเสีย ซึ่งบ่อยครั้งที่เจอลูกค้าใจร้อนสั่งวันนี้จะขอสินค้าพรุ่งนี้ เธอจึงต้องพยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ
“เราจะเผาแบบรีดักชั่น คือเผาถึง 1,250 องศา ซึ่งการเผาแบบนี้จะได้เขม่าควัน ที่จะเข้าไปเคลียร์งานทำให้ดูสวย และเผาจากเตาแก๊ส ซึ่งความพิเศษของการเผาด้วยเตาแก๊สคือ จะได้ชิ้นงานออกมาไม่เหมือนกัน ก็จะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่จะยากกว่าการใช้เตาไฟฟ้า เพราะเราต้องเฝ้าตลอดเวลา ต้องปรับอุณหภูมิทุกชั่วโมง เซรามิกนี้จะเผาถึง 3 รอบ รอบแรกจะเป็นจากดินปั้น จากนั้นเอาไปจุ่มเคลือบแล้วเผาอีกรอบที่ 1,250 องศา เพ้นต์ลายลงไปแล้วเผาอีกรอบ 800 องศา กระบวนการจะยุ่งยากมาก”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นงานเซรามิก จึงทำให้มีปัญหาตามมาคือ การขนส่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งจูนบอกว่า เธอจะแพ็กอย่างดีหลายชั้น และจะถามลูกค้าว่า จะให้จัดส่งทางไหน โดยจะมีทั้งใช้บริการขนส่ง บริการส่งทางไปรษณีย์ บางทีก็นัดรับในสถานที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เจอปัญหาสินค้าเสียหายจากการขนส่งแต่อย่างใด
สุดท้ายกอฝ้ายและจูนได้ฝากข้อคิดสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจในมุมมองของพวกเธอว่า ต้องมีความอดทนมากๆ เพราะจะทำให้สามารถมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ และสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้
“จริงๆ พอเริ่มมาทำแบรนด์ Life Forest อย่างจริงจัง พวกเรามีเงินเหลือเก็บมากกว่าตอนทำงานประจำ ตรงนี้ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จในขั้นต้น แต่ในช่วงแรกที่ตัดสินใจลาออกจากงาน ก็คิดว่าต้องขายได้ชัวร์ เพราะเราก็ว่าของเราสวย แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ฉะนั้นเราต้องอดทนมากๆ แล้วผ่านมันไปให้ได้ แต่ถ้ามันเป็นความฝัน เรายังยืนยันที่จะทำมันต่อ สุดท้ายมันก็จะเดินหน้าต่อไปได้”
FB : Lifeforest
IG : life.forest
Tel : 09-9186-9994
Line : Korfaii_somemile
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี