Starting a Business

วิถีไทย พาหัตถกรรมไทยโกอินเตอร์

 



 

     อย่างที่ทราบกันดีว่า งานหัตถกรรมไทยนั้นมีเสน่ห์งดงามไม่แพ้ชาติใดโลก แต่ด้วยการขาดความรู้ในการทำการตลาด การออกแบบ จึงทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ มองเห็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงอาสาเข้ามาเติมเต็มเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมและสร้างรันเวย์ให้หัตถกรรมไทยสยายปีกสู่ตลาดโลก ด้วยการเปิด Thai Handicraft Marketplace ในชื่อwww.VTTHAI.com

     จิรโรจน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจว่ามาจากการที่เขามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้เห็นว่าในต่างประเทศมีงานหัตถกรรมที่คล้ายๆ กับประเทศไทย  ซึ่งชิ้นงานนั้นสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่างานหัตถกรรมไทยอยู่หลายเท่า ทำให้กลับมาคิดว่าจริงๆ แล้ว งานหัตถกรรมบ้านเราซึ่งฝีมือดีมีความละเอียดสวยงามก็น่าสามารถจำหน่ายในราคาสูงได้เช่นเดียวกัน  เพียงแต่ต้องสนับสนุนในด้านการออกแบบและช่องทางการทำตลาด    

     “ขณะนี้เทรนด์อี-คอมเมิร์ซกำลังมา มีเว็บไซต์ที่จำหน่ายงานหัตถกรรมอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกันเมืองไทยก็มีชุมชนอยู่ถึง 7 หมื่นชุมชนที่สามารถทำงานหัตถกรรมได้ แต่ปัญหาของเขาคือขาดความรู้การทำการตลาดซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ขาดโอกาสในการก้าวทันตามความต้องการของต่างประเทศ  เลยมองว่าถ้าเราช่วยด้านการตลาดชาวบ้านในชุมชนก็น่าจะสามารถมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เติบโตไปด้วยกันได้”

     ทั้งนี้ จิรโรจน์ วางธุรกิจวิถีไทยไว้ 2 โมเดล คือ โมเดลแรกเป็นการนำสินค้าหัตถกรรมที่ชาวบ้านรังสรรค์ขึ้นมาหรือที่มีแบรนด์ของตนเองอยู่แล้วมาจำหน่ายในเว็บไซต์วิถีไทย โดยทางวิถีไทยจะสนับสนุนการถ่ายภาพสินค้า และทำ Storytelling ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น  และโพสต์ขายในเว็บไซต์ให้  ส่วนโมเดลที่สองคือการเข้าไปเติมไอเดียด้านการออกแบบโดยวิถีไทยจะส่งดีไซเนอร์ลงไปช่วยพัฒนาชิ้นงานร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งเมื่อได้งานแล้วจะจำหน่ายในแบรนด์วิถีไทย หรือแบรนด์ชาวบ้านเอง หรือจะเป็นลักษณะ Collaboration หรือจะนำไปจำหน่ายเองก็ได้

     “บางทีเขาสานเสื่อ 3-5 วันอาจจะได้แค่ 500 บาท รายได้เฉลี่ยแค่วันละ 150 บาท แต่เราเอาเสื่อมาทำกระเป๋าเราขายได้แพงขึ้น อย่างเราขายกระเป๋าจักสานใบละ 4 พันกว่าบาท ทีแรกชาวบ้านก็กลัวว่าจะขายได้เหรอ แต่เราพิสูจน์แล้วว่าขายได้จริง โดยเป้าหมายเราให้เขาเทียบเท่ารายได้ขั้นต่ำในช่วงแรก ส่วนดีไซเนอร์เมื่อเราขายสินค้าได้ก็ค่อยแบ่งกำไรให้ อันนี้เป็นโมเดลที่เราเข้าไปเติมเต็ม ขณะที่ด้านการตลาดตอนนี้จะเน้นทำตลาดใน 4 ประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยจะมีการทำการตลาดออนไลน์หลายวิธี รวมถึงการส่งสินค้าให้บล็อกเกอร์ต่างประเทศที่มีคนติดตามในอินสตาแกรม 5-8 แสน ซึ่งเขาให้คุณค่ากับงานหัตถกรรม เขาก็จะโพสต์งานให้เรา เป็นการสื่อให้เห็นเลยว่าเป็นการขายแพงได้ บล็อกเกอร์ระดับโลกก็ใช้”

     อันที่จริงนอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว จิรโรจน์ยังมีช่องทางออฟไลน์ควบคู่ไปด้วย โดยนำสินค้าไปวางจำหน่ายที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลชิดลม และสยามพารากอน  เพื่อมุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเห็นและกลับไปบอกต่อหรือเซิร์ชหาทางออนไลน์อีกครั้ง

     อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของจิรโรจน์ ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เขาตั้งใจที่จะนำดีไซเนอร์ ชาวบ้าน และลูกค้ามาแมทชิ่งกันในแพลตฟอร์ม ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นอีกโมเดลธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำมาก่อนในประเทศไทย

     “ปกติซัพพลายเออร์เวลาจะผลิตสินค้าอะไรสักอย่างต้องมีจำนวนสินค้าขั้นต่ำ ดังนั้นเราจะเป็นคนกลางให้ระหว่างดีไซเนอร์ ชาวบ้าน และลูกค้า สมมติดีไซเนอร์ส่งแบบมาเราลงให้ในแพลตฟอร์ม ถ้าลูกค้าสนใจก็เลือกกดสั่งซื้อ เมื่อมีลูกค้ากดสั่งซื้อถึงจำนวนขั้นต่ำสำหรับซัพพลายเออร์ สมมติ 100 ชิ้น ซัพพลายเออร์ก็จะเข้ามาผลิต ซัพพลายเออร์ได้ออร์เดอร์ ลูกค้าได้สิ่งที่ต้องการ ดีไซเนอร์ได้ลูกค้า เพียงแต่ลูกค้าต้องรอ เรากำลังพัฒนาโมเดลนี้ โดยอยู่ในช่วง Product-Market Fit  คือช่วงกำลังศึกษาโปรดักต์ที่จะให้ลงตัวที่สุด เพราะการที่จะทำในลักษณะนี้กับชาวบ้านจะยากกว่าซัพพลายเออร์ทั่วไปเนื่องจากมีความซับซ้อนกว่า”

     ทั้งนี้ จิรโรจน์ วาดภาพในอนาคตของวิถีไทยเอาไว้ด้วยว่า เขาอยากสร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ซื้องานของวิถีไทยได้จากทั่วโลก และดีไซเนอร์ไทยหรือที่ไหนก็สามารถมาร่วมงานกับวิถีไทยได้

     “เราเป็นกึ่ง Startup กึ่ง SME เราจะ Repeat ได้ Scale ได้ก็ต่อเมื่อโมเดลที่เราทำสำเร็จ ปีหน้าเราจะสร้างชุมชนมากขึ้น ยอดขายมันอาจจะไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนในปีแรก แต่เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี เราต้องมีโมเดลการแมทชิ่งที่ชัดเจน  ตรงนี้จะทำให้ยอดขายโตต่อเนื่อง”

     ด้วยแนวคิดและการพัฒนา Thai Handicraft Marketplace ของจิรโรจน์ ส่งผลให้วิถีไทยเข้าไปอยู่ในใจของคณะกรรมการจนได้รับเลือกให้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายจากโครงการ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง

     “ออมสินเป็นธนาคารเพื่อประชาชน เราเองก็อยากช่วยเหลือชุมชน จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการซึ่งโชคดีที่เราได้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เพราะจะมีโค้ชเข้ามาแนะนำในสิ่งที่เราขาด นอกจากนี้ ยังได้คอมเม้นต์ของกรรมการ ซึ่งเราชอบมากที่กรรมการชี้ให้เห็นจุดอ่อนที่เรามองไม่เห็น มาเตือนในสิ่งที่เรารู้และไม่รู้ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ทำให้เราเอาคอมเม้นต์นั้นมาปรับปรุงให้ดี อะไรที่ควรระวังอยู่แล้วก็ระวังมากขึ้น” จิรโรจน์ กล่าวในตอนท้ายถึงการเข้าร่วมโครงการ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริงที่ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาวิถีไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี