Starting a Business
Gokudera หยิบของปั้นจิ๋วมาทำเครื่องประดับ
งาน Miniature หรือของจิ๋วย่อส่วน ใครๆ ก็ทำกันมากมาย ดังนั้น เมื่อ กัญ-กัญชนก ต๊ะมามูล คิดจะหยิบมาทำธุรกิจจึงต้องต่อยอดออกไป ด้วยการนำเจ้าของจิ๋วเหล่านั้นมาทำเป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็น แหวน ต่างหู สร้อยข้อมือ ฯลฯ เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้แบรนด์ Gokudera เครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมด
“เกิดจากการที่เราชอบดูของจิ๋ว แต่ไม่ได้เรียนศิลปะมาก่อน หรือไม่ได้ไปเข้าคอร์สเรียนที่ไหน ด้วยความชอบเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ก็เลยลองเอาดินไทยมาปั้นดู แรกๆ ก็ดูแบบจากต่างประเทศเป็นรูปอาหารตามเว็บไซต์ และลองปั้นตาม งานที่ออกมาจึงเน้นไปเป็นพวกแฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช ไข่ดาว ซึ่งเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง จากนั้นก็ค่อยๆ ฝึกปั้นเรียนรู้แก้ไขไปเรื่อย ตอนหลังก็เริ่มพัฒนาขึ้นจึงออกแบบเองเป็นอาหารไทยบ้าง เช่น เย็นตาโฟ ข้าวหน้าไก่ ชุดน้ำพริก แต่ตอนที่ทำเห็นอยู่แล้วว่าถ้าเป็นของจิ๋วธรรมดาๆ มีคนทำเยอะอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะลองเอามาทำเป็นเครื่องประดับ ต่างหู สร้อยข้อมือ ให้ดูแตกต่างจากทั่วไป เลยกลายเป็นเครื่องประดับที่น่ารักๆ จนคิดว่ามันโอเคแล้วก็ลองเอามาขาย เปิดขายบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แล้วก็มีไปตามงานแฮนด์เมดต่างๆ”
เครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมด Gokudera นี้ กัญชนกยอมรับว่าแม้จะได้รับคำชื่นชมเยอะว่าเหมือนของจริงมากๆ และมีคนติดตามในอิสตาแกรมเพิ่มขึ้นตลอด แต่ด้วยความที่ตัวเธอไม่ถนัดการทำการตลาด จึงไม่ได้ทำตลาดสร้างแบรนด์มากนัก การตอบรับในแง่จำนวนขายจึงยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เธอก็ไม่ได้ย่อท้อ จนกระทั่งงานเครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมดที่น่ารักเหล่านี้ไปเตะตาเว็บไซต์ Pinkoi จึงได้มีโอกาสไปขายในเว็บไซต์ Pinkoi ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อ-ขายงานดีไซน์ออนไลน์จากประเทศไต้หวันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีร้านที่สิงคโปร์สั่งออร์เดอร์เพื่อเอาไปขายต่ออีก จนตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าลูกค้า 99 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าจากไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์
“คนไต้หวัน ฮ่องกง เขาชอบงานแฮนด์เมดอยู่แล้ว เขามอง Gokudera ว่ามันน่ารักเป็นของแปลกใหม่ ราคาที่เราขายอย่างต่างหูคู่ละ 159-179 บาท ส่วนสร้อยข้อมือราคา 459 บาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น ชอบของที่มีสีสัน พวกอาหารไทยเป็นสิ่งแปลกตาสำหรับเขาก็จะชอบมาก ซึ่งเราจะพยายามออกแบบให้มีความแปลกใหม่มากขึ้น เช่น ชุดน้ำพริกปลาทูและผัก ที่เล็กมากๆ มีขนาดเท่าเหรียญ 25 สตางค์เท่านั้น ลูกค้าคนจีนคุยง่าย บางทีเราไม่สบายของส่งให้ไม่ทันก็คุยกันได้ ส่วนลูกค้าสิงคโปร์จะเป็นเด็กๆ หน่อย ผลตอบรับที่ดีตอนนี้เลยเปิดรับ Made to Order เพราะบางทีลูกค้าก็อยากให้เราทำอาหารประเทศของเขาให้ โดยลูกค้าจะส่งรูปมาให้ หรือเขาอยากได้ชุดสปาเกตตี แต่ให้ทำที่เป็นเข็มกลัดเราก็รับทำให้”
หลังจากทำเครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมดมานาน 2 ปี กัญชนกให้ข้อสังเกตว่า สินค้าประภทนี้จะขายดีในช่วงปลายปีถึงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลให้ของขวัญ แต่พอเข้าช่วงกลางปีตลาดจะค่อนข้างเงียบ ซึ่งตรงนี้ทำให้เธอต้องเตรียมรับมือ ด้วยการทำโปรโมชัน ลดราคา และต้องขยันออกแบบสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพื่อที่ว่าเมื่อนำไปโพสต์ขายใน Pinkoi อันเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้า จะทำให้ภาพสินค้าได้ไปอยู่ในกลุ่มสินค้าใหม่ ซึ่งคนที่เข้าเว็บไซต์จะเห็นก่อน
“ต้องพยายามทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นสินค้ามากขึ้น พยายามมีสินค้าใหม่ตลอดเวลา ยิ่งทุกอาทิตย์ได้ก็จะดีมาก ปั้นอะไรที่แปลกใหม่ บางทีสินค้ามีอยู่แล้วก็มาสลับกัน เช่น เอาต่างหูข้างหนึ่งเป็นแซนด์วิช อีกข้างเป็นไข่ดาว แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นอาหารเป็นหลัก และพยายามมิกซ์แอนด์แมตช์ โดยจะเป็นงานแฮนด์เมดปั้นเองทั้งหมด แต่ก็มีบ้างบางตัวที่ต้องทำเยอะๆ เช่น โดนัท จะใช้แม่พิมพ์เข้ามาช่วยเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังกัญชนกเริ่มพัฒนา เครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมดจากอาหารนานาชนิดมาเป็นสัตว์ โดยเริ่มปั้นแหวนรูปสัตว์ เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น และออกแบบเคสโทรศัพท์มือถือที่ผสมผสานงานปั้นจิ๋ว โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Khunlamboo วางขายใน Pinkoi เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เมื่องานเครื่องประดับจิ๋วแฮนด์เมดได้รับการตอบรับที่ดีจึงวางแผนที่จะออกบู๊ธที่ไต้หวัน สิงคโปร์ด้วย
สำหรับใครที่มีไอเดียมีความคิดสร้างสรรค์ อย่าปล่อยให้ไอเดียนั้นสูญเปล่า หากลองลงมือสร้างสรรค์ผลงานแล้ว เชื่อว่าโอกาสทางธุรกิจย่อมมีอย่างแน่นอน
FB : Gokudera Jewelry
IG : gokudera.jw
Line : imgunta
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี