Starting a Business

MAKE A MOVE รองเท้าไม้ในความรู้สึกใหม่



 




Text : กฤษณา สังข์วงค์ Photo : Otto


    พูดถึง “รองเท้าไม้” เป็นต้องนึกถึงรองเท้าหนักๆ ที่ใส่แล้วไม่สบายเท้า อีกทั้งยังมีเสียงดังเวลาเดิน แต่ Make a Move แบรนด์รองเท้าแตะไม้สไตล์มินิมอลที่ให้ลุกส์แคชชวลผสมกึ่งทางการกลับลบความรู้สึกนั้นไป

    Make a Move เกิดจากความตั้งใจอยากทำรองเท้าที่สามารถสวมใส่ได้หลายโอกาสของสองสาวดีไซเนอร์ ส้ม-ศริณญา ประเสริฐสรรค์ และ อุ้ย-เพ็ญธิดา งามมณีวัฒน์ ซึ่งรองเท้าที่พวกเธอตัดสินใจเลือกทำคือ รองเท้าแตะไม้ที่แมตช์ได้กับเสื้อผ้าหลายชุด และให้ลุกส์ค่อนข้างแคชชวลไปจนถึงกึ่งทางการ


 



    “Make a Move มีเอกลักษณ์เด่นตรงที่นำไม้ฉำฉา ซึ่งเป็นไม้น้ำหนักเบามาทำรองเท้า จึงทำให้เดินสบาย ไม่รู้สึกหนัก และแม้จะใส่ลุยฝน รองเท้าก็ไม่ขึ้นราและไม่บวมน้ำ เพราะไม้ถูกเคลือบด้วยแว็กซ์กันน้ำ ส่วนพื้นรองเท้าโชว์ให้เห็นลายไม้ชัดเจน โดยรองเท้าแต่ละคู่มีลายไม้ที่ต่างกันแม้จะเป็นไม้จากต้นเดียวกัน

   ส่วนเอกลักษณ์อีกข้อคือ ไม่นำวัสดุอื่นมาตกแต่งรองเท้า เพราะต้องการเน้นความเรียบง่าย พร้อมทั้งโชว์กิมมิกของรองเท้าแต่ละคอลเลกชั่น เช่น เทคนิคการจับจีบหนัง และโชว์ความสวยงามของหนังวัวแท้และหนังกลับที่นำมาทำตัวรองเท้าและสายรองเท้า นอกจากนี้ รองเท้ายังถูกดีไซน์ให้ออกมากึ่งแคชชวลผสมกึ่งทางการ จึงสามารถสวมใส่ได้ทั้งในวันทำงานและวันหยุดพักผ่อน” ส้มกล่าว

 


     ด้วยความที่เป็นรองเท้าไม้แฮนด์เมด และวัสดุที่ใช้ในการทำรองเท้าก็ล้วนแต่คุณภาพดี จึงไม่แปลกที่รองเท้าจะมีราคาสูงตามวัสดุที่ใช้ แต่เพื่อให้กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นสาวๆ วัยเรียนและวัยทำงานจับต้องสินค้าได้ง่ายขึ้น และสองสาวต้องไม่ขาดทุนจนเจ็บตัว พวกเธอจึงกำหนดราคาเริ่มต้นในระดับกลางไปจนถึงราคาที่สูงประมาณหนึ่ง

    “เราไม่ได้ต้องการขายรองเท้าราคาสูง แต่ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตรองเท้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนแล้วเสร็จนั้นค่อนข้างเยอะ ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้วต้องตั้งราคารองเท้า XXX บาทจึงจะไม่ขาดทุน แต่ด้วยราคาระดับนี้ค่อนข้างสูง ทำให้ขายยาก เราจำต้องตั้งราคาให้ต่ำลงอีกหน่อย อาจยอมเจ็บตัวเล็กน้อย แต่ต้องไม่เจ็บมาก ไม่เช่นนั้นธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย” อุ้ยกล่าว

 




    ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ อุ้ยยอมรับว่า เรื่องที่ยากรองลงมาจากการดีไซน์รองเท้าให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย คือการทำอย่างไรให้พวกเขายอมซื้อรองเท้า ซึ่งการออกบู๊ธตามงานอีเวนต์ทำให้เธอเห็นปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อสินค้าอย่างชัดเจน เช่น บางคนชมว่ารองเท้าสวย น่ารัก แต่ไม่ซื้อ ขณะที่บางคนตัดสินใจไม่ซื้อเมื่อทราบราคา 

    “เมื่อทำให้คนชอบรองเท้าได้แล้ว แต่ยังทำให้ตัดสินใจซื้อรองเท้าไม่ได้ นี่จึงกลายเป็นความท้าทายว่าจะเปลี่ยนพวกเขามาเป็นผู้ซื้อได้อย่างไร อย่างแรกเลยเรามองที่ช่องทางการขาย ด้วยความที่เน้นขายออนไลน์ การบริการจึงต้องประทับใจลูกค้า โดยเราพยายามตอบคำถามของลูกค้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และแนะนำวิธีการวัดเท้าที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการสั่งรองเท้าผิดไซส์ แต่หากสั่งไปแล้วใส่ไม่ได้ก็ยินดีเปลี่ยนให้

    ถัดมาคือ การออกบู๊ธ เราเลือกงานอีเวนต์ที่จัดในสถานที่ที่มีกลุ่มลูกค้าอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะมีทั้งชาวไทยและต่างชาติเดิน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขามีกำลังซื้อ ท้ายสุดเรากระตุ้นการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายด้วยการจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลต่างๆ  และรับสั่งรองเท้าแบบ Made to Order เช่น เปลี่ยนสีหนัง แต่ต้องเป็นหนังที่เรามี หรือปรับขนาดไซส์รองเท้า” ส้มกล่าว

 




    นอกจากสองสาวจะใช้วิธีข้างต้นในการเปลี่ยนผู้ติดตามอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กเพจ และผู้คนที่เดินผ่านไปมาในงานอีเวนต์ให้กลายเป็นผู้ซื้อ การพัฒนาและปรับปรุงรองเท้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าก็เป็นสิ่งที่พึงทำเช่นกัน

   โดยอุ้ยแนะนำว่า ผู้ขายต้องยอมรับฟังคำแนะนำและข้อติชมของลูกค้า เพราะแม้จะมั่นใจแล้วว่า สินค้าไม่มีข้อบกพร่องใดๆ แต่ถึงอย่างไร ลูกค้าบางรายอาจมองเห็นข้อบกพร่องบางอย่าง เช่น การโชว์พื้นรองเท้าให้เห็นลายไม้นั้น พื้นรองเท้าจะแข็ง ลูกค้าบางรายจึงรู้สึกใส่ไม่สบายเท่าไรนัก

   ดังนั้น จึงตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาด้วยการเพิ่มพื้นรองเท้าให้นุ่มขึ้น หากแต่ยังมีรองเท้ารุ่นโชว์ลายไม้เช่นเดิม และสำหรับผู้ที่ชอบใส่รองเท้ารัดส้นและรองเท้าแตะ แต่ไม่อยากพกหลายคู่ สามารถเลือกซื้อรองเท้ารุ่นที่ถอดสายรัดส้นได้ เพราะเมื่อถอดสายรัดส้นออกก็จะได้รองเท้าแตะไม้ที่ช่วยขับลุกส์ให้ดูสบายขึ้น 

Facebook : makeamove.sandals
Instagram : makeamove_sandals
Line : makeamove_sandals
e-mail : makeamove.sandals@gmail.com


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)