Q-Life Starting a Business

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมแห่งแรกในไทย ที่อยากให้คนหันมาวนใช้ซ้ำ เพื่อสิ่งแวดล้อม

 

     หากเสื้อผ้ามีปัญหาชำรุด ใส่ไม่ได้ คุณเลือกที่จะทำอย่างไร? ทิ้ง บริจาค ซื้อใหม่ หรือซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ ใหม่อีกครั้ง

     สำหรับ หวาย-ณ.ดี กังวลกิจ Product Manager เว็บแอปพลิเคชัน ‘วนวน’ (wonwonbyreviv.com) และทีมงาน อยากให้คนไทยเลือกซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำให้มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยมลพิษ  ไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้ามากมายจากกระบวนการทำสินค้าใหม่

     และนี่คือจึงเป็นไอเดียที่มาของ ‘วนวน’ หนึ่งในโปรเจกต์ของ ‘Reviv’ คอมมูนิตี้อาสาที่ส่งเสริมการซ่อมแซมเพื่อความยั่งยืน  

ชวนมาซ่อมแซมเพื่อสิ่งแวดล้อม

     “เราเห็นว่ามันยังมีช่องว่างของพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ก็คือการซ่อมต่างๆ รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าที่ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่ตระหนักถึงเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่การซ่อมจะทำให้สินค้าชิ้นนั้นยั่งยืนกว่ากระบวนการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัพไซเคิลหรือรีไซเคิล นอกจากนี้ จริงๆ แล้วในกรุงเทพฯ ก็มีร้านรับซ่อมเสื้อผ้าเล็กๆ ตามระแวกต่างๆ ค่อนข้างเยอะที่หลายคนยังไม่รู้หรือนึกไม่ถึง เลยอยากให้ลองเปิดใจกับการซ่อมด้วย ไม่ใช่ว่าสินค้าพัง เสื้อผ้าขาดชำรุดแล้วก็บริจาคหรือทิ้งอย่างเดียวเพราะการบริจาคหรือการทิ้งมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การซ่อมนิดๆ หน่อยๆ ช่วยให้สามารถใช้งานได้ยืนยาวอีกหลายรอบ”

     หลังจากที่เห็น Pain Point จนได้ไอเดียในการพัฒนาเว็บแอปที่รวมร้านซ่อมเสื้อผ้า หวายบอกว่า เริ่มแรกจึงได้ทำเซอร์เวย์ออกไปก่อน เพื่อดูว่าคนอยากเห็นแพลตฟอร์มประมาณไหน ต้องการฟีเจอร์อะไร และมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปรากฏว่ามีคนให้ความสนใจจำนวนมาก จึงได้เอาฟีดแบคเหล่านั้นมาพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘วนวน’ ขึ้นมา  

     “ตอนแรกคือไม่ได้คาดหวัง เราต้องการแค่โปรโมทให้คนรับรู้ว่ามีสิ่งนี้แล้วคุณสามารถใช้ได้ แต่คนให้ความสนใจเยอะมาก เป็นเหมือนไวรัล ก็เลยรู้สึกว่ามันมี Pain มีตลาดอยู่ แล้วเราจะ Fit in ตรงนี้ได้ยังไง แต่ขณะเดียวกันในวนวนจะมีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถรีวิวร้านซ่อมได้ ซึ่งพอเข้าไปอ่านเรารู้สึกว่าคนเขาตั้งใจเขียนรีวิวจริงๆ พยายามที่จะอธิบายว่ามันดียังไง เช่นมีคนพูดประมาณว่าคุณป้าร้านนี้ให้บริการดีมากเลย แต่ก่อนคุณป้าอยู่ตรงนู้นตอนนี้ย้ายมาตรงนี้แล้ว เลยรู้สึกว่ามันมีอิมแพคเล็กๆ น้อยๆ จากฝั่งของผู้ใช้”

แหล่งรวมร้านซ่อมที่ช่วยให้หาได้สะดวกและง่ายขึ้น

     หวาย อธิบายถึงวนวนเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเจนว่า วนวนเปรียบเสมือนสมุดหน้าเหลืองสมัยก่อน ที่รวบรวมข้อมูลร้านซ่อมเอาไว้ ใครที่มีความสนใจก็สามารถหาร้านซ่อมในละแวกบ้านของตัวเอง พร้อมข้อมูล เบอร์โทร ที่อยู่ รวมถึงการรีวิวจากผู้ใช้จริงได้ โดยในตอนนี้ ‘วนวน’ มีช่างซ่อมเสื้อผ้าประมาณ 100 กว่าร้านกระจายตามกรุงเทพฯ  

     “วนวนจะไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เป็น interaction platform แต่เราเป็นเหมือน informative platform คือคลี่ข้อมูลทุกอย่างว่าหากจะซ่อมเสื้อผ้าจะไปหาร้านซ่อมที่ไหนแถวไหนได้ คือช่วยทำให้คุณสามารถซ่อมสินค้าเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้นและสะดวกมากขึ้นเหมือนสมุดหน้าเหลือง แต่ต้องไปที่ร้านนั้นติดต่อร้านซ่อมเอง เราไม่ได้เป็นตัวกลาง ไม่มีค่าธรรมเนียม ส่วนช่างถ้าต้องการสมัครก็สามารถสมัครผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้เลย”

งานอาสาที่ทำด้วยใจ

     จริงๆ แล้ว ‘วนวน’ หนึ่งในโปรเจกต์ของ ‘Reviv’ คอมมูนิตี้ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้าเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็น องค์กรไม่แสวงหากำไร โดยทีมงาน ‘วนวน’ ล้วนเป็นอาสาสมัคร เพราะแต่ละคนมีงานประจำทำอยู่แล้ว

     “เรามีแพสชั่น มีเป้าหมาย คล้ายๆ กันคือสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สนใจเรื่องความยั่งยืน ซึ่งทั้งทีมมีเป้าหมายเดียวกันและมีความมุ่งมั่นถึงจะช่วยกันทำได้ แต่หนึ่งในความท้าทายก็คือเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะอาสาทุกคนมีงานหลักงานประจำกันอยู่แล้ว การทำงานกับ ‘วนวน’ จึงต้องทำงานนอกเวลา ในทีมของวนๆ มีประมาณ 8 คนซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน แถมบางคนอยู่ญี่ปุ่น จึงต้องอาศัยการสื่อสารการบริหารจัดการ การแก้แต่ละปัญหาในแต่ละช่วงเพื่อให้งานออกมาอย่างราบรื่น”

ขยายงานซ่อมสู่ของใช้อื่นๆ  

     หลังจากที่ ‘วนวน’ รวบรวมร้านซ่อมเสื้อผ้าชำรุดแล้ว จนได้รับความสนใจระดับหนึ่ง ถัดจากนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องขยับขยายสู่ของใช้อื่นๆ โดยหวายบอกว่า จะทำใน 2 ส่วนคือ 1.การเพิ่ม category จากเสื้อผ้า สู่ร้านซ่อมรองเท้า ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านซ่อมกระเป๋า และ 2.การขยายพื้นที่จากกรุงเทพฯ ออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น

     “เป้าหมายถัดไปคือเพื่อให้มันมีอิมแพคกว้างขวางมากขึ้น โดยประมาณต้นเดือน เราจะขยายไปทำ category อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นซ่อมกระเป๋า ซ่อมรองเท้า ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจข้อมูลว่าแต่ละประเภทนั้นมีความต้องการจริงๆ และต้องการให้มีฟีเจอร์อะไรบ้าง เพราะของใช้แต่ละประเภทย่อมมีความแตกต่างกันไปบ้าง” หวายกล่าวในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup