EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก รับมือมาตรการกีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อม
บรรจุภัณฑ์หรือ Packaging เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ผู้บริโภคต่างคาดหวังและต้องการสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของการค้าโลกอย่างญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเก็บค่ารีไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้านำเข้า อินเดียห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จีนห้ามใช้พลาสติกที่ย่อยสลายเองไม่ได้ ดังนั้นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และการออกแบบให้สวยงามจึงมีความสำคัญไม่แพ้กระบวนการผลิตสินค้า ผู้ประกอบการควรต้องศึกษาและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อรักษาตลาดและฐานลูกค้าไว้ให้ได้
ดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า มาตรฐานการค้าโลกยุคใหม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น หากผู้ส่งออกไทยไม่สามารถปฏิบัติตามได้อาจจะส่งผลต่อการตลาดและยอดขาย เพื่อให้ SMEs สามารถปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank จึงได้สานพลังร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดอบรมสัมมนา อัปเดตเทรนด์ความรู้และยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน โดยจัดโปรแกรมเติมความรู้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยหนึ่งในเรื่องที่ให้ความสำคัญคือ การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของสินค้าส่งออกให้มีความยั่งยืน หรือ Sustainable Packaging ตามเทรนด์โลก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ในการนี้ SMEs ไทยต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ธนาคารได้มีการสนับสนุน SMEs ทั้งด้านการเติมความรู้ เสริมศักยภาพการส่งออกสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยส่งออกและกำลังจะส่งออก การเติมโอกาสผ่านโครงการ Business Matching การออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเติมเงินทุนด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ” นางสาวดรัสวันต์กล่าว
EXIM BANK จัดงานสัมมนา SMEs Export Studio: Innovate for a Greener Future โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) และสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) จัดให้ผู้เชี่ยวชาญได้บรรยายถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากบรรจุภัณฑ์ซึ่งเริ่มรุนแรงขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเทรนด์การสั่งซื้อสินค้าและอาหารออนไลน์ที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกย่อยสลายยากจำนวน 25,000 ตัน ไหลลงมหาสมุทร และในเวลาเดียวกันยังมีขยะพลาสติกจากวัสดุทางการแพทย์และบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้นถึง 8 ล้านตัน ซึ่งหากกำจัดไม่ถูกวิธีอาจเกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและดิน สร้างปัญหามลพิษตามมา
วรพักตร์ ฐิตะดิลก ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ (อบ.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความกังวลต่อปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน (Sustainable Packaging) มากขึ้น ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประเมินว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของ Sustainable Packaging เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 109,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสู่ระดับ 225,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มกว่าเท่าตัวภายในปี 2576
นอกจากนี้ ยังพบว่า แนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ที่จะได้รับการยอมรับในเวทีการค้าโลกในระยะข้างหน้าจะต้องมีคุณสมบัติที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน อาทิ การรีไซเคิลและย่อยสลายได้ (Recyclable and Biodegradable Packaging) ผลิตจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว อะลูมิเนียม กระดาษ และพลาสติกบางชนิด หรือผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพด ชานอ้อย และเส้นใยจากพืช ลดการใช้วัสดุ (Minimalist Packaging) ออกแบบมาเพื่อใช้วัสดุน้อยที่สุด แต่ยังคงสามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ เช่น การลดชั้นของบรรจุภัณฑ์หรือลดขนาดของบรรจุภัณฑ์ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Packaging) หลายครั้ง เช่น ขวดแก้ว กล่องเก็บอาหารซิลิโคน และถุงผ้าลดการใช้พลาสติกใช้ฉลากแบบล้างออก (Wash-off Labels) ช่วยให้การทำความสะอาดและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ทำได้ง่าย ผลิตจากวัสดุที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustainably Sourced Packaging) เช่น กระดาษจากป่าไม้ที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Forest Stewardship Council (FSC)
หากพิจารณาจากแนวโน้มดังกล่าว ประกอบกับการออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับ
บรรจุภัณฑ์ เช่น คำสั่งห้ามใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้อย่างเข้มงวดของจีน พระราชบัญญัติ Break Free From Plastic Pollution Act of 2021 (BFFPPA) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องออกแบบ จัดการ และให้เงินสนับสนุนสำหรับการจัดการขยะของสหรัฐ ร่างกฎหมาย Packaging and Packaging Waste ของสหภาพยุโรป เพื่อกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ และแผน National Packaging Targets ที่กำหนดให้เลิกใช้บรรจุภัณฑ์โฟมของออสเตรเลีย คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม ทดสอบ ออกแบบ บรรจุภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ประเทศคู่ค้า ภาครัฐจึงพร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อที่จะยืนอยู่ในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ดร.รัชนีวรรณ กุลจันทร์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า EXIM BANK และ วว. มีความร่วมมือที่จะพัฒนา SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกทั้งการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โดยทุกคนต้องปรับตัวสู่กระแสรักษ์โลก ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม เน้นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยขอการสนับสนุนจาก วว. มากขึ้น โดย วว. มีทีมวิจัยพร้อมที่จะช่วยศึกษาหาวัสดุธรรมชาติอื่นมาใช้ทดแทนพลาสติก มีดีไซน์ที่สวยงาม มีน้ำหนักเบา แข็งแรง สะดวกแก่การขนส่ง นำไปใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นพันธกิจเดียวกันกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมดที่จะช่วยเพิ่มจำนวน SMEs ให้มีบทบาทต่อการส่งออกมากขึ้น
ด้าน ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. มีโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program : ITAP) ที่ได้เสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs พัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งได้ช่วยผู้ประกอบการมาแล้วมากกว่า 300 โครงการ มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการใน Supply Chain ให้สามารถ Go Green ได้ สามารถติดต่อขอความรู้และให้ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
ถึงเวลาปรับธุรกิจให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) และปรึกษา EXIM BANK เพื่อเติมความรู้ ผ่านหลักสูตรอบรมของ SMEs Export Studio เติมโอกาส ผ่านการช่วยจับคู่ธุรกิจ และเติมเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อ Go Green ตามกฎกติกาการค้าในโลกยุคใหม่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup