Finanace

คุยกับ แซม ตันสกุล 5 ปีที่เกินคาดของกรุงศรี ฟินโนเวต และปีนี้กับเงินลงทุน 1.6 พันล้าน

 

     “5 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เราเปลี่ยนแทบทุกปี โดย 3 ปีแรกเรียกว่าเป็นช่วงชุลมุน เพราะแทบจะไม่รู้จักใครเลย เราทำ Accelerator Program ชื่อกรุงศรี ไรส์ จากนั้นก็เริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพเรื่อยมา จนมาช่วงโควิดเป็นจังหวะที่เราเห็นโอกาสว่าสตาร์ทอัพไหนจะอยู่รอดบ้าง เริ่มลงทุนในตัวใหญ่ๆ เพิ่มขึ้น ลงทุนใน Flash Express และ Grab ซึ่งเป็นยูนิคอร์น แล้วปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนจากการลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ มาจัดตั้งกอง Finnoventure Fund ที่มีเงินทั้งหมด 2,700 ล้านบาทขึ้นมา”

     แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด  ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของกรุงศรี ฟินโนเวต ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งในแง่การลงทุนกับสตาร์ทอัพต่างๆ และการตั้งกองทุนในรูปแบบ Private Equity ชื่อ Finnoventure Fund ที่เป็นการรวบรวมเงินทุนจากลูกค้าสถาบันรายใหญ่ พันธมิตร มาร่วมลงทุนด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเกินความคาดหวังมาก เพราะอย่างน้อยก็มี 2 ยูนิคอร์นในพอร์ต และมี 5 สตาร์ทอัพที่เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

     “โดยความตั้งใจอยากสร้างไทยสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์น เพราะหมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้เกิดการจ้างงานเยอะมาก สามารถดันเศรษฐกิจประเทศไทยได้ ซึ่งหากดูสหรัฐอเมริกาบริษัทที่เป็นติดท้อป 10 มีถึง 8-9 บริษัทที่เป็น Tech Company ถ้าวันหนึ่งไทยมี Tech Company ขึ้นไปอยู่ในชาร์จอย่างนั้นได้บ้าง แสดงว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลจะพุ่งหน้าไปอย่างรวดเร็ว”

     อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่ายูนิคอร์นตัวถัดมาคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยแซมชี้ให้เห็นเหตุผลว่าเพราะไทยมีสตาร์ทอัพใน Series A น้อยมาก แต่มีสตาร์ทอัพในช่วง Seed เยอะมาก ซึ่งสาเหตุที่สตาร์ทอัพไทยไม่สามารถเติบโตขึ้นไปได้ ก็เป็นเพราะว่าไม่มีเงินทุนและศูนย์บ่มเพาะที่จะช่วยสนับสนุนให้เดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง และนั่นจึงเป็นที่มาของการลงทุน ในปี 2566 ของกรุงศรีฟินโนเวต ที่ตั้งเป้าเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรวม 1,600 ล้านบาท

 

 

เปิดการลงทุน 3 กอง 1,600 ล้าน

     หากกางแผนการลงทุนในสตาร์ทอัพในปีนี้ แซมบอกเล่าว่าในปีนี้ได้เตรียมใช้เงินลงทุน ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กองทุน ได้แก่ 

     กอง 1 Finnoventure Fund มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ Series A ขึ้นไป โดยจะลงทุนเพิ่มอีก 10 บริษัทจากเดิมที่มี 19 บริษัท 

     กอง 2  มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท จะสนับสนุนสตาร์ทอัพ Pre series-A  และถ้าสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้เงินทุนจากกองแรกจะรอรับเพื่อสนับสนุนต่อไป

     กอง 3 Finnoverse มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับ metaverse, web3 และ blockchain เป็นต้น  

     ที่สำคัญ ในปีนี้จะเป็นปีแรกที่จะเห็นการลงทุนในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  โดยจะวางสัดส่วนการลงทุนไทยสตาร์ทอัพ 70 เปอร์เซ็นต์ และต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ 

     ในส่วนของสนับสนุนสตาร์ทอัพ Pre series-A นั้น แซมบอกเหตุผลที่หันมาให้ความสำคัญและลงทุนว่าเป็นเพราะปัจจุบันไทยมีสตาร์ทอัพที่สามารถอยู่รอดได้ไปถึงช่วง Series A จำนวนน้อยมาก จึงวางแผนที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพในช่วง Early Stage ให้สามารถเติบโตและอยู่รอดจนสามารถ IPO ได้ โดยในปีนี้ได้มีการจัดตั้ง Accelerator Program ที่จะช่วยบ่มเพาะและผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ Series A ได้

     “จริงๆ เงินทุนที่เรามีรองรับทุก Stage แต่ปีนี้เราจะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อให้สตาร์ทอัพกลุ่ม Early Stage สามารถเติบโตได้เป็นยูนิคอร์นได้ นอกจากนี้ยังตั้งศูนย์บ่มเพาะ Krungsri UPcelerator ที่เชียงใหม่ โดยร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโปรแกรมที่จะเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพในพื้นที่ภาคเหนือเข้าสู่ Bootcamp สุดเข้มข้นจากเหล่า Mentor ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการสตาร์ทอัพมาหลายปี”

 

 

     ส่วนธุรกิจที่อยู่ในความสนใจที่จะลงทุน แซมบอกว่าจะดูธุรกิจที่อยู่ในช่วงของการเติบโต ซึ่งได้มีการวิเคราะห์กันทุกปีว่าธุรกิจไหนที่ควรลงทุนบ้าง สำหรับปีนี้จะปักการลงทุนใน 3 ด้านด้วยกันคือ คือ1. Fintech 2. Ecommerce และ 3. Automotive Tech   

     “อย่าง Ecommerce น่าจะยังเติบโตไปอีกหลายปี โดย Ecommerce ที่เราจะลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นแพลตฟอร์ม แต่เป็นธุรกิจอื่นที่สนับสนุน เช่น โลจิสติกส์ เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น และคลังสินค้า เป็นต้น ขณะที่กลุ่มยานยนต์ ที่เราเห็นชัดเจนคือรถสาย EV มาอย่างแน่นอน นอกจากนี้อีกอย่างที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ ESG  แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ เพื่อจัดการกับภาวะโลก เพราะฉะนั้นทุกคนจะเกี่ยวข้องกับ ESG และตอนนี้เราก็เริ่มเห็นสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้น”

     การที่ กรุงศรี ฟินโนเวต  พร้อมลงทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย อีกทั้งยังตั้งศูนย์บ่มเพาะเช่นนี้ นับเป็นโอกาสดีของสตาร์ทอัพไทย ซึ่งเชื่อว่าจะมีสตาร์ทอัพไม่น้อยที่จะเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup