Finanace

ทำความรู้จัก Blockchain VC นักลงทุนที่เจาะกลุ่มสายคริปโตโดยเฉพาะ!

 

Text : Nares Laopannarai

     ในโลกของสตาร์ทอัพจะมีกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาช่วยระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจที่เรียกว่า VC (Venture Capital) โดยมีเป้าหมายในการที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อทำกำไรเมื่อมีการระดมทุนในระดับที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันที่สตาร์ทอัพในกลุ่มบล็อกเชนหรือคริปโตกำลังเติบโตและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิด VC ที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพสายนี้โดยเฉพาะ

 

 

     อย่างไรก็ตามรูปแบบการลงทุนและเงื่อนไขต่างๆจะไม่เหมือนกับการลงทุนในสตาร์ทอัพสายดั้งเดิม โดยมีความแตกต่างในบางประเด็นอย่างเช่น

     ลงทุนผ่านโทเคนแทนหุ้น การลงทุนในสตาร์ทอัพแบบดั้งเดิม ผู้ลงทุนหรือ VC จะเข้าลงทุนด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการนั้นๆตามแต่สัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้ในรูปแบบของการเพิ่มทุนให้กับกิจการนำไปใช้ขยายธุรกิจและจะทำการขายทำกำไรออกมาทั้งหมดหรือถือไว้บางส่วนแล้วแต่กลยุทธ์ของกองทุนนั้นๆ

 

 

     แต่ถ้าเป็น VC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพสายบล็อกเชนจะเข้าลงทุนผ่านดิจิทัลโทเคนที่สตาร์ทอัพนั้นๆมอบให้กับกองทุนโดยจะไม่มีการเข้าถือหุ้นในกิจการแต่อย่างไร โดยจะมีข้อตกลงกันว่าจะไม่สามารถขายเหรียญได้ในช่วงแรกหลังจากที่มีการเปิดซื้อขาย รวมถึงราคาที่เสนอให้จะต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาด

     การที่ VC ไม่ได้ลงทุนในหุ้นของบริษัท เนื่องจากสตาร์ทอัพสายบล็อกเชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทปกติและอาจจะมีผู้ถือหุ้นและพนักงานที่ทำงานกันอยู่ในหลายประเทศ การลงทุนผ่านโทเคนแทนหุ้นจึงมีความคล่องตัวมากกว่าและไม่ได้เสียอำนาจการบริหารงานไป

     ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหลัก เกณฑ์ในการตัดสินใจเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพของ VC แบบดั้งเดิมจะให้ความสำคัญในแง่ของแนวโน้มการเติบโตของตลาด การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆของสตาร์ทอัพ แต่ถ้าเป็นสตาร์ทอัพสายบล็อกเชน VC จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยเฉพาะหัวข้อในการนำบล็อกเชนมาปรับใช้กับตัวธุรกิจ ถ้าหากตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจนจะเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการระดมทุน

     หรืออาจจะพิจารณาลงทุนในเทคโนโลยีที่เข้าขั้นสู่การเป็น Decentralized Platform ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับ VC ที่จะตัดสินใจเข้าลงทุน

 

 

     เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน Node ในโลกของบล็อกเชน การเป็น Node จะหมายถึงเป็นผู้ที่ช่วยยืนยันการทำธุรกรรมต่างๆในบล็อกเชนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลาง โดยผู้ที่เป็น Node จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของโทเคนซึ่งจะได้รับอย่างต่อเนื่องหากบล็อกเชนนั้นๆมีการทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งธุรกรรมมีมากขึ้นผลตอบแทนก็จะได้รับมากขึ้น คล้ายกับการได้รับเงินปันผล โดยอาจจะไม่การขายทำกำไรออกไปก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำบล็อกเชนของสตาร์ทอัพนั้นๆไปใช้ในธุรกิจได้อีกด้วย

     อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพแบบดั้งเดิมหรือรูปแบบบล็อกเชน สิ่งที่ VC จะใช้ในการตัดสินใจอย่างแน่นอนก็คือผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารว่ามีความสามารถในการสร้างธุรกิจให้เติบโตหรือไม่ส่วนรูปแบบการใส่เงินลงทุนอาจแตกต่างกันออกไป

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup