Finanace

เมื่อทางเลือกจะกลายเป็นทางหลัก! Digital Wallets อนาคตของการชำระเงินและธุรกิจออนไลน์

 

Text :Nares Laopannarai

     กระเป๋าเงินอีเล็กทรอนิกส์หรือ Digital Wallets กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์แซงหน้าบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิมอย่างเช่นธนาคารไปแล้ว นี่คือหนึ่งในเมะเทรนด์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจับตาและปรับตัวตาม

 

 

     ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของ Ark Invest ระบุว่า Digital Wallets สามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายนอกเหนือจากการโอนเงินและชำระเงินแต่ยังสามารถปล่อยกู้ ธุรกรรมประกันภัย ซื้อขายหุ้นและกองทุน ไม่ต่างอะไรกับสถาบันการเงินแต่ทำงานอยู่บนโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่างๆแทน ซึ่งการเติบโตของ Digital Wallets ได้เข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมเงินสดนับตั้งแต่ปี 2007 และมีสัดส่วนที่สูงกว่าการใช้บัตรเครดิตและเดบิตการ์ดทั้งรูปแบบการชำระเงินทางออนไลน์และแบบออฟไลน์ที่จุดขาย (POS)

     จุดเริ่มต้นของการขยายตัวของ Digital Wallets เริ่มต้นที่ประเทศจีนทั้งที่ก่อนหน้านี้อัตรการเข้าถึงบัตรเครดิตของประชากรจีนอยู่ที่ 0.39 ใบต่อคน ขณะที่ชาวอเมริกันอยู่ที่ 2.6 ใบต่อคน แต่การที่จีนเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาถูกอย่างเช่น OPPO, Vivo, Huawei, Xiaomi ฯลฯ เมื่อมีการใส่ฟังชั่นการชำระเงินออนไลน์เข้าไปทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ใช้งาน Digital Wallets อันดับหนึ่งของโลกในที่สุด

 

 

     ยังมีข้อมูลเปรียบเทียบว่าอัตราการเติบโตของ Digital Wallets มีการเร่งตัวมากกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างมาก เช่น ธนาคารเจพีมอร์แกนใช้เวลา 30 ปีในการมีฐานลูกค้า 60 ล้านบัญชีแต่ Digital Wallets ใช้เวลาเพียงแค่ 5-6 ปี

     สาเหตุหลักที่ทำให้ Digital Wallets ขยายตัวได้อย่างรวดเร็วก็เพราะธุรกรรมการกู้เงินแบบ P2P ทำให้การกู้เงินทำได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนี้การที่ธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจการเงินที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากได้กระโดดเข้ามาลงทุนใน Digital Wallets ทำให้เกิดการใช้งานที่กว้างขวางขึ้น

     นอกจากนี้ Digital Wallets ยังมีต้นทุนในการทำการตลาดเพื่อดึงลูกค้าที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมมาก โดยตัวเลขระบุว่าธนาคารในอเมริกาอาจจะต้องใช้เงินถึง 2,500 ดอลลาร์ แต่ถ้าเป็น Digital Wallets อาจจะใช้งบประมาณเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ เท่านั้นทำให้การขยายตัวสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

 

 

     ขณะที่การมี Digital Wallets จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ถึง 12,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 400,000 บาท จะกล่าวได้ว่าเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากการใช้งานที่เข้าถึงได้ง่าย เห็นได้ชัดเจนว่าภาคธุรกิจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดังกล่าว

     ปัจจุบันได้มีบริษัทฟินเทคที่พัฒนาโซลูชั่นสำหรับการชำระเงินด้วย Digital Wallets ให้สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถที่จะเข้าถึงได้ง่ายและต้นทุนต่ำ เจ้าของกิจการสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองได้รวมถึงคิดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ดึงจุดแข็งของ Digital Wallets ออกมาช่วยสร้างยอดขายเพิ่มได้เช่นกัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup