Finanace

ส่องปัญหา! ทำไม VC ต่างประเทศจึงไม่ลงทุนกับ Startup ไทย

 

Text : ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร สำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด


     ถึงแม้ว่า Startup จะเริ่มต้นธุรกิจจากไอเดีย แต่การที่ธุรกิจซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานจะขยายการเติบโต เพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีเงินทุนในทุกช่วงระยะเวลาของการเติบโตที่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่าเงินลงทุนจะจำกัดเฉพาะในประเทศไม่ได้  

     คำถามคือแล้วเราจะดึงดูดนักลงทุน (Venture Capital หรือ VC) ต่างประเทศได้อย่างไร? มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก IESE Business School ที่ชี้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของ VC 6 ข้อคือ

     1.Economic Activity การเติบโตทางเศรษฐกิจและระดับรายได้  

     2.Depth of Capital Market ศักยภาพที่ VC จะ Exit ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ การควบรวมกิจการ ฯลฯ   

     3.Taxation แรงจูงใจด้านภาษีและนโยบายสนับสนุนต่างๆ เช่น Capital Gains Tax เป็นต้น

     4.Investor Protection and Corporate Governance การบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

     5.Human and Social Environment ทุนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางสังคม  

     6. Entrepreneurial Culture and Deal Opportunities การส่งเสริมวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการการ




     
     จากทั้ง 6 ปัจจัยนี้ มีการจัดอันดับประเทศที่เป็นที่ดึงดูด VC จาก 120 ประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าอันดับ 1. ประเทศอเมริกา 2. อังกฤษ และ 3. ญี่ปุ่น แต่ถ้ามองเข้ามาในอาเซียนแล้วปรากฏว่า อันดับ 6.สิงคโปร์ 7.จีน 9.เกาหลีใต้ 11.ฮ่องกง  23มาเลเซีย และ 29.ประเทศไทย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ พยายามเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุดเพื่อดึงดูดการเข้ามาของ   VC เพราะรู้ดีว่า VC นั้นเปรียบเสมือนแหล่งอาหารปลาชั้นดีที่ทำให้ปลาว่ายน้ำมารวมกัน ถ้ามีมากก็จะส่งผลให้จำนวน Startup มากตามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่ง Eco System ที่สำคัญ

     มาถึงตรงนี้ กลับมาดูที่ประเทศไทยกับการได้อันดับที่ 29 ซึ่งสะท้อนว่าปัจจัยต่าง ๆ เอื้อต่อการลงทุนหรือไม่ ยกตัวอย่างปัญหาหนึ่งที่มีการพูดถึงกันตลอดมา คือภาษีจากการลงทุน Capital Gain Tax ในธุรกิจ Startup อัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ Startup ไทยไม่ต้องลำบากดิ้นรนตามลำพัง จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ที่อย่างน้อยต้องไม่ด้อยกว่าสิงคโปร์ เพื่อสร้าง Eco System ให้ดึงดูดทั้ง VC และ Startup ต่างประเทศที่อยากมาเปิดบริษัทที่ประเทศไทยด้วย   

     มากไปกว่านั้น ถ้าพิจารณาข้อมูล Global Venture Financing จาก VENTURE PULSE KPMG จะเห็นอีกว่ายอดการลงทุนในเชิงมูลค่า ปี 2564 เปรียบเทียบปี 2563 นั้นเติบโตเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งฝั่งเอเชียก็มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้น แต่ที่น่าสังเกตคือในแต่ละช่วงการลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่ Angel & Seed, Early VC และ Later VC พบว่า VC เลือกลงทุนกับ Startup ขนาดใหญ่ และลดการลงทุนในระดับ Seeding ลง





     สิ่งนี้น่าจะสร้างความกังวลให้กับ Startup ไทยอย่างมาก ดังนั้นแล้ว Startup ไทยควรทำอย่างไร หากมองถึงปัญหาของ Startup ไทย หลักๆ ส่วนใหญ่ Startup ไทยเป็นธุรกิจที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานหากแต่เป็น Startup ในเชิงบริการมากกว่า ดังนั้น เมื่อขยายออกไปในระดับภูมิภาคแล้วไปเจอคู่แข่งขันจึงมักจะพ่ายแพ้ในเรื่องของเทคโนโลยี อีกทั้ง Startup ไทยมองประเทศไทยเป็นตลาดหลักซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก และยังยึดติดกับทฤษฎีการลงทุนตามขั้นตอนทั่วไปต้องไป Pitching ในเวทีต่างๆ แต่กลับไม่รู้ว่าต้องการเงินลงทุนไปเพื่ออะไร Growth Strategy คืออะไร ไม่มีแผนการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะเติบโต 10 หรือ 100 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า VC ไม่ได้อยากลงทุนกับ Startup ที่โตแค่ 2 หรือ 5 เท่า แต่ต้องการลงทุนกับ Startup ที่โตเป็น 10 หรือ 100 เท่า ที่สำคัญคือไม่มีแผน Exit Strategy ที่ชัดเจน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ว่าทำไม Startup ไทยถึงยังติดอยู่ใน Seeding Round ไม่สามารถที่จะหลุดไป Series A ได้

      อย่างไรก็ตาม หากไม่รู้จะเข้าหา VC ต่างประเทศได้อย่างไร True Digital Park ซึ่งสร้างระบบนิเวศเพื่อสนับสนุน Startup เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วย Startup ด้วยที่นี่จะมีออฟฟิศ VC ต่างประเทศหลายบริษัท และมี One Stop Service ที่ครบวงจร เพื่อบริการให้คำแนะนำในการทำ Startup ทุกสายธุรกิจ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน ซึ่งจะมีข้อมูล VC ครบถ้วนรอบด้าน ช่วยให้ Startup ที่มีศักยภาพความพร้อมได้มีโอกาสเจอ VC ทั้งในและต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup