Finanace

บริหารเงินดี ไม่มีพัง! หนทางพาธุรกิจรอดตายได้ในทุกวิกฤติ

     ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่ๆ เช่นนี้ นอกเหนือจากการหากำไรเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการต้องอย่าลืมที่จะให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจด้วย ซึ่ง อภิวัฒน์ หวังมีชัย ซีอีโอ บริษัท บนกองเงินกองทอง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและดูแลการเงิน บัญชี และภาษี ได้ให้คำแนะนำถึงเทคนิคการบริหารกระแสเงินสดเพื่อพาธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตไว้ดังนี้


     1. ตรวจสอบสถานะเงินสดบริษัท โดยดูว่ามีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 2-3 เดือนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าสินค้า ฯลฯ 


     2. ประเมินความเสี่ยงธุรกิจและเตรียมวิธีการรับมือ โดยดูว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง เช่น ความเสี่ยงด้านสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานจะแก้อย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจเลือกหยุดกิจการ แล้วถ้าสถานการณ์ดีขึ้นค่อยกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะสู้ต่อด้วยการประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ ในหนทางการรับมือนี้ผู้ประกอบการต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ หากเลือกที่จะหยุดต้องระวังความเสี่ยงเรื่องความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เช่น ลูกค้าลืมแบรนด์ ดังนั้น อาจจะต้องใช้เวลาว่างลองทำการตลาดออนไลน์ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไร เพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์เราได้   





     3. บริหารจัดการลูกหนี้และเจ้าหนี้ การให้เครดิตเทอมถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า เวลาที่ขายสินค้าจะให้เครดิตลูกค้ากี่วัน ขณะเดียวกันก็ต้องกลับมามองที่ฝั่งซื้อด้วยว่าได้เครดิตหรือไม่ ได้กี่วัน เพราะถ้าไม่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ให้ดีได้ จะกลายเป็นว่าขายสินค้าออกไปได้จำนวนมาก เปิดบิลขายได้เยอะจริง แต่ไม่มีเงินสดพอที่จะไปจ่ายให้เจ้าหนี้หรือสิ่งที่ซื้อมา 
สำหรับวิธีการบริหารจัดการลูกหนี้และเจ้าหนี้นั้น ต้องบริหารเครดิตให้สอดคล้องกัน โดยการทำให้ฝั่งขายมีจำนวนวันที่ให้เครดิตน้อยกว่าฝั่งซื้อ เช่น หากฝั่งขายให้เครดิตลูกค้า 30 วัน เครดิตของฝั่งซื้อควรจะอยู่ที่ 45 วัน เป็นต้น


     4. การบริหารสภาพคล่องกับทรัพย์สิน สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ทรัพย์สินมีอายุการใช้งาน มีค่าเสื่อมราคา และมีมูลค่าในการสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ ทรัพย์สินที่พร้อมใช้งานต้องพร้อมสร้างประโยชน์ ถ้าทรัพย์สินนั้นไม่มีประโยชน์เท่ากับว่ามีค่าเสื่อม ค่าดูแลรักษา ดังนั้น หากเจอวิกฤตธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวสร้างมูลค่าให้กับทรัพย์สิน ยกตัวอย่าง โฮเต็ลประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดิมให้บริการที่พักแบบแคปซูล เมื่อเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวหดหาย หากปล่อยไว้ก็มีแต่ค่าใช้จ่าย จึงคิดหาประโยชน์ปรับเป็น Co-Working Space ให้นั่งทำงานในแคปซูล เป็นต้น  





     5. การสำรองเงินฉุกเฉิน ถ้าไม่จำเป็นควรชะลอหรือเลื่อนแผนการลงทุน และเน้นการขายในรูปแบบเก็บเงินสด ลดเก็บตุนสินค้า ยืดระยะเวลาการชำระเงินกับคู่ค้า ติดตามเก็บหนี้คงค้างจากลูกค้า รักษาเงินสดด้วยการทำประกันสุขภาพ การใช้สิทธิ์ยืดเวลาการจ่ายภาษี ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เงินสดอยู่ในระบบมากขึ้น 


     6. มองหาการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยการเลือกสินเชื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้เงิน เช่น เงินกู้เบิกเกินบัญชี OD ไม่เหมาะใช้กับระยะยาว เช่น วางมัดจำ ซื้อรถ หรือขยายสาขา ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนไม่มีวินัยทางการเงินได้   





     7. จัดทำแผนธุรกิจปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ New Normal ผู้ประกอบการ SME มีจุดแข็งด้านการขาย มีลูกค้าจำนวนมาก ขณะที่ Startup โดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยี ถ้าทั้งสองฝ่ายมีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะช่วยทำให้ลดต้นทุน ขยายธุรกิจ รองรับพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ได้ ยกตัวอย่าง สำนักงานบัญชีที่ใช้ระบบบัญชีออนไลน์ ลดค่าใช้จ่ายการส่งเอกสาร เช่าพื้นที่เก็บเอกสาร ความเสี่ยงจากเอกสารสูญหาย เป็นต้น    



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup