Finanace
ฟังทางนี้ ! สิ่งที่ควรรู้การหักภาษีค่าขนส่ง-บริการ COD ธุรกิจออนไลน์
Main Idea
- การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริการการขนส่งสินค้าพลอยเติบโตตามไปด้วย รวมถึงการบริการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD
- แต่รู้หรือไม่ว่า การบริการเก็บเงินปลายทางนี้จะมีเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านธุรกิจออนไลน์มีอัตราการเติบโตไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้การบริการการขนส่งสินค้าพลอยเติบโตตามไปด้วย รวมถึงการบริการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD ซึ่งเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่ลูกค้านิยม ซึ่งทั้งการขนส่งและการบริการเก็บเงินปลายทางนี้จะมีเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยเรื่องนี้ ‘อภิวัฒน์ หวังมีชัย’ ซีอีโอ บริษัท บนกองเงินกองทอง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและดูแลการเงิน บัญชี และภาษี ในฐานะที่คลุกคลีกับผู้ประกอบการ SME มานาน ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้
1. ค่าขนส่ง โดยกฎหมายระบุหากเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และมียอดค่าบริการเกิน 1,000 บาทต่อบิลต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้
“หากบริษัทที่ค่าขายสินค้าออนไลน์ดีๆ ค่าขนส่งจะเกิน 1,000 บาทแน่นอนในหนึ่งวัน บริษัทก็จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับบริษัทขนส่ง นำส่งเป็นภาษีให้สรรพากรประจำเดือน เป็นการบันทึกค่าขนส่งให้ถูกต้อง”
**หักก่อน3 % ไม่แบกภาระแทนบริษัทขนส่ง
2. ค่าบริการเก็บเงินปลายทาง เดี๋ยวนี้บริษัทขนส่งได้เปิดให้บริการเก็บเงินปลายทางกันมากมาย โดยลูกค้าจะเลือกช่องทางการเก็บเงินปลายทางเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าว่าไม่ถูกโกงแน่ๆ ซึ่งการเก็บเงินปลายทางนี้จะมีค่าบริการที่ในใบเสร็จจะเขียนว่า ธรรมเนียม COD
ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมนี้ อภิวัฒน์ บอกว่า บริษัทต้องอย่าลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นค่าบริการ 3 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าสินค้า ซึ่งโดยส่วนมากเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจะไม่รู้จึงจ่ายเต็มจำนวน ดังนั้นพอถึงสิ้นปีกรมสรรพากรหรือผู้สอบบัญชีมาตรวจพบว่า ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ตั้งแต่แรกก็จะทำให้ภาระการจ่ายนี้ตกอยู่ที่บริษัท กลายเป็นว่าต้องจ่ายแทนบริษัทขนส่ง 3 เปอร์เซ็นต์
“เราเป็นลูกค้าของบริษัทขนส่ง บริษัทขนส่งเป็นผู้ให้บริการ ดังนั้น เราต้องเป็นฝ่ายหักจากบริษัทขนส่ง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อน้ำหนักสินค้าไม่เท่ากัน ดังนั้น บริษัทขนส่งบางแห่งจะให้เรารวบรวมใบเสร็จทั้งเดือนเอาไว้ พอสิ้นเดือนทีก็นำให้เขา เสร็จแล้วเขาจะส่งไปให้ฝ่ายบัญชีเพื่อโอนเงิน 3 เปอร์เซ็นต์กลับมาให้กับเรา เพื่อให้นำไปจ่ายให้สรรพากรต่อ”
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ผู้ประกอบการก็ต้องระมัดระวัง เพราะอย่างที่บอกหากลืมหรือไม่รู้ก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องจ่ายแทนบริษัทขนส่งไป ดังนั้นท่องไว้เงินทองเป็นของมีค่าแม้จะน้อยนิดมีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาทพอรวมกันเข้าก็เป็นเงินมหาศาลได้ การทำธุรกิจก็ควรจะคิดให้รอบคอบเช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup