Finanace
Startup กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ต้องระวัง
Main Idea
- การเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรง ทำให้ นักลงทุนต่างให้ความสำคัญและลงทุนในธุรกิจ Startup ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
- แต่รู้หรือไม่ว่า การมีเงินทุนจำนวนมากๆ อาจจะไม่เป็นผลดีกับ Startup แต่กลับส่งผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำไป หากไม่ระวังเรื่องเหล่านี้
หลายคนอาจคิดว่ายิ่งมีเงินเท่าไรยิ่งดี ยิ่งลงทุนหนักเท่าไรยิ่งสำเร็จ แต่สำหรับการทำ Startup นั้นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะบริษัทที่มีเงินมากกว่าความเก่งจะอยู่รอดได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ในทางกลับกันบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจน และมีวิธีการทำธุรกิจที่ดีมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว
อย่างที่รู้กันดีว่า Startup เป็นธุรกิจหนึ่งที่กำลังมาแรง นักลงทุนต่างให้ความสำคัญและลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งจากข้อมูลของ Crunchbase ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในรอบ Seed และ Angel ในไตรมาสแรกของปี 2561 นั้นเพิ่มขึ้นถึงเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การมีเงินทุนจำนวนมากรออยู่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นผลดีกับ Startup เพราะบ่อยครั้งกลับส่งผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำไป
ยิ่งเงินมาก ปัญหาก็ยิ่งมาก
การได้รับเงินทุนมากเกินไปมักทำให้ Startup กลายเป็นเหยื่อให้กับ 3 เรื่องดังต่อไปนี้
1. สร้างโซลูชันขึ้นมาก่อนแล้วค่อยมองปัญหาในภายหลัง
เมื่อ Startup ได้เงินทุนมากพอ พวกเขาจะเดินหน้าพัฒนาโปรดักต์ที่มาจากความคิดโดยไม่ผ่านการทดลอง หรือใส่ใจในรายละเอียดเพราะมุ่งแต่จะหาลูกค้า หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การได้เงินจำนวนมากๆ ในเวลาอันรวดเร็วทำให้ข้ามขั้นตอนในการทำธุรกิจที่สำคัญไป โดยเฉพาะกับการเรียนรู้เรื่องการขาย และพัฒนาโปรดักต์ให้ดีขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภค
2. ทำสิ่งที่ไม่จำเป็น
การมีเงินมากเกินไปทำให้ Startup นำไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือทำในสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสียในการปล่อยโปรดักต์ตัวแรกออกสู่ตลาด เพียงเพื่อหวังกระตุ้นยอดขายและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากการมีทุนที่จำกัดที่จะทำให้ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรอบคอบระมัดระวัง ดังนั้น หากปราศจากความคิดแบบ Lean Startup การให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ และมุ่งเน้นการลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญ หรือสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ออกไปแล้วนั้น แม้จะมีเงินทุนมากก็ไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรดักต์ได้
3. ปล่อยโปรดักต์ก่อนมีตลาดรองรับ
อีกหนึ่งปัญหาของการมีเงินมากเกินไปคือ การที่ Startup จะนำโปรดักต์เข้าสู่ตลาดก่อนที่จะมีตลาดรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ พวกเขาจะขายสินค้าก่อนที่จะรู้ว่ามีคนต้องการมันหรือไม่ และจะใช้เงินจำนวนมากไปกับการโฆษณาแล้วถึงจะมารู้ทีหลังว่าเสียเงินไปเปล่าๆ ให้กับการผลิตในสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ
ความสำเร็จอาจไม่ต้องพึ่งเงินทุนเสมอไป
ในขั้นตอนของการระดมทุน หากรีบร้อนที่จะได้เงินมากๆ และเร็วเกินไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ จะก่อให้เกิดปัญหาในรอบถัดไป ซึ่งบางครั้งเป็นกับดักที่ทำให้ Startup หน้าใหม่ต้องติดกับดักจากการระดมทุนเป็นจำนวนมากแล้วก็หมดทุนเสียก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้เพื่อเข้าสู่การระดมทุนในรอบต่อไป เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมากมายในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แต่ควรทำ 5 สิ่งต่อไปนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เงินที่มีทำให้ธุรกิจล้มไม่เป็นท่าได้
1. ทำตามหลักการของ Lean Startup
แม้ไม่มีเงินทุนมากมายแต่หลายบริษัทก็สามารถเติบโตได้จากการใช้สิ่งที่มีอยู่และให้ตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทางของก้าวต่อไปของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น Classpass บริษัทฟิตเนสที่ให้บริการสำหรับสมาชิกในสหรัฐอเมริกาที่ตอนแรกประสบปัญหาเรื่องของโปรดักต์ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ แต่หลังจากนั้นก็นำเอาหลักการของ Lean Startup เข้ามาใช้ในการพัฒนาโปรดักต์โดยดูจากฟีดแบ็กของลูกค้า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แทนที่คิดว่าจะใช้งบลงทุนเยอะๆ ในการทำการตลาดให้โดนใจลูกค้า ซึ่งถือว่าได้ผลดีเลยทีเดียว เมื่อปัจจุบันบริษัทมีรายได้มากขึ้นจนสามารถขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้
2. มองทิศทางของตลาด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเงินทุนในการทำธุรกิจนั้นถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงสำคัญในการเดินหน้าต่อไปโดยเฉพาะกับโลกของ Startup ที่นักลงทุนต่างจับจ้อง ดังนั้น Startup จึงควรมีการปรับตัว พิจารณาถึงทิศทางของตลาด และมูลค่าด้านการลงทุนด้วย
3. มีโมเดลธุรกิจที่ดี
สิ่งที่ควรรู้ในการทำ Startup คือ รายได้จะมาพร้อมกับโมเดลธุรกิจที่สามารถรองรับการเพิ่มขยายได้ในอนาคต ดังนั้น จำเป็นต้องทำเงินให้ได้บ้างเพื่อที่จะทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับการวางแผนการทำงานที่ดีเพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้นในภายหลัง เพราะอย่าลืมว่านักลงทุนไม่ได้มองว่าโปรดักต์นั้นดีแค่ไหนอย่างเดียว แต่ยังดูด้วยว่ามันจะทำเงินได้มากแค่ไหนอีกด้วย
4. เตรียมความพร้อมให้ดี
มี Startup จำนวนไม่น้อยที่ทุ่มเงินไปกับการตลาดและการขายโดยที่ไม่รู้ว่าโปรดักต์ที่มีนั้นไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อที่จะไม่ก้าวพลาด ในขั้นแรก Startup จึงควรใช้ทุนในการตรวจสอบความคิดในการทำโปรดักต์นั้นขึ้นมาว่าเป็นสิ่งที่ “ใช่” และตอบโจทย์ตลาดได้จริงหรือไม่ มีการวางโมเดลเพื่อดูว่าจะทำกำไรได้จริงหรือไม่ ทำการทดลองและสร้าง Engagement กับลูกค้า ก่อนที่จะไปสู่การวางแผนด้านการตลาดและการขายในขั้นต่อไป
5. มองข้ามความกดดันของการระดมทุน
แทนที่จะมัวเปรียบเทียบเรื่องของตัวเงินหรือเงินทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจที่อาจเริ่มมาด้วยจำนวนเพียงเล็กน้อยกับการระดมทุนในรอบต่อๆ ไปที่ต้องมากขึ้นเรื่อยๆ Startup ควรมองไปที่คุณค่าของตัวเองที่สามารถพัฒนาและเติบโตมากขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับนักลงทุนได้มากกว่า
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup