Digital Marketing

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ธุรกิจมีแต่ได้






Text : กองบรรณาธิการ


    
    ถึงแม้ว่าการค้าขายบนโลกออนไลน์จะเติบโตขึ้นมาก อันเนื่องมาจากการที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการสั่งสินค้า และชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคทำให้ผู้บริโภคอีกหลายคนยังไม่กล้าซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการทราบดีแต่กลับเพิกเฉย ทั้งนี้ดูได้จากจำนวนการจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในช่วยการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า ที่ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการมายื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อยืนยันความเป็นตัวตนเพียง 13,000 รายเท่านั้น จากที่คะเนกันว่ามีผู้ประกอบการบนออนไลน์กว่า 300,000 ราย   


    อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับกับตลาดออนไลน์ที่โตวันโตคืน และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการซื้อขายออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  จึงออกมาตรการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการทั้งหลายจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว ทั้งนี้ ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บอกว่า SME ที่จะเปิดร้านค้าออนไลน์เพื่อทำธุรกิจอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความมีตัวตน ตามกฎหมายของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าออนไลน์ 


    “ตอนนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังเร่งให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ในการแจ้งเตือนร้านค้าออนไลน์ให้เข้าสู่ระบบ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันหากใครไม่ได้จดทะเบียนฯ ตลาดกลางก็อย่ารับเข้าไปเป็นสมาชิก อันนี้ก็เป็นการบังคับ หากพบว่าผู้ประกอบการยังคงเมินเฉยไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง กรมฯ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตาม โดยในช่วงนี้เป็นการขอความร่วมมือ จากนี้ 3 เดือน เป็นการเตือนครั้งที่ 1 และ อีก 3 เดือนถัดมาเป็นการเตือนครั้งที่ 2 จากนั้นจะปรับ 2,000 บาท และปรับวันละ 100 บาท โดยทั้งหมดจะมีผลให้เห็นภายในปีนี้อย่างแน่นอน”

 





    ผ่องพรรณกล่าวต่อไปด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับประโยชน์โดยตรงคือ มีตัวตนตามกฎหมายทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือ และสร้างโอกาสทางการตลาด นอกจากนี้ ยังจะได้รับสิทธิสมัครขอใช้เครื่องหมาย DBD Registered ซึ่งเป็นการรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ให้กับทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และออกเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified ให้แก่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เป็นนิติบุคคล โดยจะต้องผ่านการประเมินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญได้รับการส่งเสริมและได้รับสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดขึ้น   


    “การเข้าสู่ระบบไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงการมีตัวตนของผู้ประกอบการเท่านั้น สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมคือ เมื่อเรารู้ชัดแล้วว่า เขาคือใคร กรมฯ ก็จะนำเขาเข้าสู่กระบวนการที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้องค์ความรู้ และการขยายตลาด  ซึ่งการให้ความรู้ก็มีทั้งการอบรมสำหรับการสร้างธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายใหม่ และการพัฒนากลยุทธ์การตลาด รวมถึงการให้คำปรึกษากับผู้ค้ารายเดิมที่เคยผ่านการอบรมกับกรมฯ มาแล้ว ส่วนการสร้างโอกาสทางการตลาด จะมีหลายกิจกรรมที่จะทำอย่างไรให้พวกที่เข้าใหม่มีโอกาสขยายการตลาดเพิ่มขึ้นอีก เช่น มีการจัดอี-คอมเมิร์ซเดย์ มีการสร้างเครือข่าย  นอกจากนั้น มีการจัด Thailand Online Mega Sale เพื่อกระตุ้นตลาดออนไลน์ ให้พวกที่เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม”


    นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น โดยสามารถแจ้งประสานงานมายังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะมีข้อมูลอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบ เรียกคู่กรณีมาพูดคุยทั้งสองฝ่ายแล้วไกล่เกลี่ย และกรณีที่พบว่ามีความผิดจริงจึงค่อยดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น 

    
    ทั้งนี้ ในตอนท้ายอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคว่า ร้านค้าออนไลน์ควรจะต้องเป็นนิติบุคคล และการมีชื่อโดเมนเนมเป็นของตนเองจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าการเลือกที่จะไปใช้เมนที่ติดอยู่กับคนอื่น ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจและสินค้าอย่างถูกต้องชัดเจน และเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีการบริหารจัดการที่ดี เช่น การยกเลิกการคืนสินค้าที่มีการกำหนดนโยบาย และเงื่อนไขอย่างเป็นธรรม รวมถึงความปลอดภัยของระบบในการเข้าถึงข้อมูล และการดำเนินธุรกิจของผู้บริโภค เป็นต้น    



ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งประกอบพาณิชยกิจ 

- ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) 

- ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)

- ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)

- ซื้อขายสินค้า/บริการ โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมถึงเว็บไซต์ ร้านค้าใน e-Marketplace ร้านค้าในโซเชียลมีเดีย


สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในเขตกรุงเทพมหานคร
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร 
2. ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขต 

ในส่วนภูมิภาค เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา 
(ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งใหม่ 50 บาท)


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)