ธปท.มอง SMEs ต่างจังหวัดเสี่ยงสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้รายงานผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในรอบ 2 ปรับขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศจะทำให้ธุรกิจใน 70 จังหวัด ต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยจากค่าจ้างเดิม 22% โดยขนาดของการปรับเพิ่มอยู่ระหว่าง 9.9% -35.1% เช่น พะเยา ศรีสะเกษ น่าน ตาก และสุรินทร์ ต้องปรับค่าจ้างขึ้น 33.7% จากอัตราเดิม

 

              
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้รายงานผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในรอบ 2 ปรับขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศจะทำให้ธุรกิจใน 70 จังหวัด ต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยจากค่าจ้างเดิม 22% โดยขนาดของการปรับเพิ่มอยู่ระหว่าง 9.9% -35.1% เช่น พะเยา ศรีสะเกษ น่าน ตาก และสุรินทร์ ต้องปรับค่าจ้างขึ้น 33.7% จากอัตราเดิม
                
ในส่วนของกำไรของภาคธุรกิจโดยรวมนั้น จากการศึกษาพบว่า แม้ว่าภาคเอกชนจะได้รับการชดเชยรายได้ส่วนหนึ่งจากการปรับลดอัตราภาษี นิติบุคคลเหลือ 20% ในปีนี้ กลุ่มที่เปราะบาง และยังมีความเสี่ยงยังคงเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัดที่ค่าจ้างแรงงานเดิมต่ำกว่า 250 บาทต่อวัน และกระทบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีผลกำไรต่อหน่วยต่ำอยู่แล้ว
                  
ธปท.รายงานด้วยว่า ส่วนผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา คาดว่ามีไม่มากนัก เช่นเดียวกับการปรับขึ้นค่าจ้างในรอบแรก เพราะภายใต้ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงในขณะนี้ จะทำให้การปรับราคาทำได้ยาก
                   
ด้านนายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอี มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากสามารถสร้างรายได้และเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญที่สุด  ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  พัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 และเพิ่มความสามารถในการรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น
              
โดยในปีนี้  กรมฯมีแผนในการพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิม และรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 27,000 ราย  เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพและยกระดับให้แข่งขันในระดับสากลต่อไป 
         
อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้นทุนแรงงานของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 11.85 เป็นร้อยละ 16.11  ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรวมทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35  ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหลายเอสเอ็มอี คงมีความวิตกกังวลในเรื่องของการปรับนโยบายดังกล่าว

NEWS & TRENDS