บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อปี 2555 มีมูลค่า 1.17 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 12.42% โดยทุกสื่อมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยสื่อโทรทัศน์ มูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 9.43% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน สื่อวิทยุมูลค่า 6.3 พันล้านบาท เติบโต 7.28% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.42% สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 67.68% สื่อป้ายโฆษณา มูลค่า 4.5 พันล้านบาท เติบโต 5.77%
บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อปี 2555 มีมูลค่า 1.17 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 12.42% โดยทุกสื่อมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยสื่อโทรทัศน์ มูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 9.43% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน สื่อวิทยุมูลค่า 6.3 พันล้านบาท เติบโต 7.28% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.42% สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 67.68% สื่อป้ายโฆษณา มูลค่า 4.5 พันล้านบาท เติบโต 5.77%
สื่อโฆษณาเคลื่อนที่ มูลค่า 2.9 พันล้านบาท เติบโต 11.99% สื่ออินสโตร์ มูลค่า 2.7 พันล้านบาท เติบโต 68.85% สื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 573 ล้านบาท เติบโต 21.91% ขณะที่สื่อนิตยสารเป็นเพียงสื่อเดียวที่ภาพรวมติดลบ 10.35% โดยมีมูลค่า 5.2 พันล้านบาท
สำหรับการใช้งบโฆษณาเฉพาะเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่า 9.8 พันล้านบาท เติบโต 23.27% โดยสื่อหลัก โทรทัศน์ มีมูลค่า 5.5 พันล้านบาท เติบโต 28.75% อัตราดังกล่าวเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54% เนื่องจากช่วงเดียวกันนี้ของปีก่อนไทยอยู่ในภาวะน้ำท่วม ทำให้สินค้าชะลอการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อโดยเฉพาะสื่อทีวี ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาส 4 อุตสาหกรรมสื่อโฆษณากลับมาเติบโตสูงอีกครั้ง เนื่องจากมีการเติบโตนับตั้งแต่เดือน ต.ค.15%
สำหรับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรกในปี 55 ประกอบด้วย ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ มูลค่า 6.6 พันล้านบาท ,โตโยต้า 2.5 พันล้านบาท, โคคา-โคล่า 2.4 พันล้านบาท, พีแอนด์จี 2.2 พันล้านบาท และโทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่นส์ 2.1 พันล้านบาท
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมอุตฯโฆษณาปี 2556 มีปัจจัยบวกจากการขยายช่องทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ทีวีดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดสื่อทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งลูกค้าท้องถิ่น ตื่นตัวด้านการสร้างแบรนด์ เพื่อเตรียมตัวรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 คาดว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณด้านการสื่อสารและโฆษณาเพิ่มขึ้นในปีนี้
ขณะที่ปัจจัยลบในปีนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ ที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในทันที ดังนั้นการพิจารณาลดต้นทุนของสินค้าต่างๆ อาจมุ่งมาที่การ "ตัดงบโฆษณา" ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ลดได้ง่ายที่สุด
จากทั้งปัจจัยบวกและลบดังกล่าว คาดอุตฯโฆษณาปีนี้ เติบโตที่ 8% จากมูลค่าเกือบ 1.2 แสนล้านบาทในปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า1.3 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2556
อย่างไรก็ตามสื่อที่ยังมีอัตราการเติบโตสูงในปีนี้ ยังคงจับตาไปที่กลุ่มสื่อทางเลือก ทั้งทีวีดาวเทียมกว่า 200 ช่อง และการแข่งขันของสื่อเคเบิลทีวี ทั้งทรูวิชั่นส์และซีทีเอช โดยในปี 2555 พบว่าโฆษณาสื่อทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เติบโต35% ขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตยังเป็นสื่อใหม่ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องในปีนี้ จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ใช้เวลากับสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียล มีเดียเพิ่มขึ้น
หากสื่อทีวีดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี ที่มีฐานผู้ชมชัดเจน เช่น ช่องการ์ตูน จับกลุ่มเด็ก ช่องข่าวและกีฬา จับกลุ่มผู้ชาย เชื่อว่าจะเป็นสื่อทางเลือกที่ลูกค้าและแบรนด์ให้ความสนใจในการจัดสรรงบประมาณโฆษณาผ่านช่องรายการดังกล่าว เนื่องจากราคาโฆษณาไม่สูงเมื่อเทียบกับฟรีทีวี แต่มีอัตราเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศกว่า 60% ขณะที่ทีวีดิจิทัล น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และยังไม่มีบทบาทในการจัดสรรงบโฆษณาในปีนี้