นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.มีภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการในปี 2556 จำนวน 3 เรื่องตามนโยบายของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน โดยเรื่องแรกเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในประเทศและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตกำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.มีภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการในปี 2556 จำนวน 3 เรื่องตามนโยบายของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน โดยเรื่องแรกเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในประเทศและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตกำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
ดังนั้น กกจ.จะรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานและตำแหน่งงานที่ต้องการจ้างงานจากสถานประกอบการในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ และนำมาวิเคราะห์เพื่อสรุปข้อมูลให้ชัดเจนและแจ้งข้อมูลไปยัง ศธ.เพื่อผลิตกำลังคนให้สอดรับกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมมือกับครูแนะแนวเข้าไปแนะแนวและจัดทดสอบความถนัดด้านอาชีพให้แก่นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่
อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การจัดระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าว โดยต่อไปนี้การจ้างงานแรงงานต่างด้าวจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างต้องยื่นขอโควตานำเข้าผ่านระบบเอ็มโอยูระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาในไทยแล้วก็มีการจัดอบรมตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาจ้าง การทำงานในไทยและการปฏิบัติตัวต่อนายจ้าง รวมทั้งเรื่องของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับ หลังจากนั้นจึงส่งตัวให้แก่นายจ้างโดยต้องมีการทำสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานโดยได้ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งนายจ้างจะต้องนำลูกจ้างต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วย
ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นการดูแลแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศโดยจะเร่งแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 เน้นให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าบริการได้เกิน 1 เดือน ของค่าจ้างและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ไม่เอาเปรียบแรงงานไทย หากมีปัญหาเช่นกรณีไต้หวันที่บริษัทจัดหางานไทยต้องจ่ายค่าซื้อตำแหน่งงานให้แก่บริษัทจัดหางานของไต้หวันและมีการไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากแรงงานไทยก็จะใช้วิธีเจรจาแบบรัฐต่อรัฐเพื่อไม่ให้ต้องมีการจ่ายค่าตำแหน่งงานคาดว่าไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ระเบียบที่แก้ไขจะประกาศใช้ หากบริษัทจัดหางานกระทำผิดระเบียบเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกำหนด กกจ.จะสั่งลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 โดยสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วัน และหากมีการหลอกลวงแรงงาน จะดำเนินคดีอาญามีโทษจำคุก 6 ปี