แนะผู้รับเหมารายเล็กต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้รับเหมารายย่อย เป็นโครงการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ และสถาบันการเงินร่วมมือกันเพื่อสนับสนุน ให้ผู้รับเหมารายย่อยมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ และลดปัญหาการทิ้งงานให้น้อยลงด้วย




นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้รับเหมารายย่อย เป็นโครงการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ และสถาบันการเงินร่วมมือกันเพื่อสนับสนุน ให้ผู้รับเหมารายย่อยมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ และลดปัญหาการทิ้งงานให้น้อยลงด้วย

    “การที่ผู้รับเหมาและผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ จับมือเป็นพันธมิตรกัน ทำให้มีความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งศุภาลัยฯ ได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้รับเหมารายย่อยมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รับเหมาที่รับเหมาก่อสร้างโครงการของบริษัทฯ สามารถทำงานได้แล้วเสร็จตามวันที่กำหนด ส่งผลให้บริษัทฯ ส่งมอบที่อยู่อาศัยให้ลูกค้าได้ทัน และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขยายงานในอนาคต และยังช่วยลดปัญหาเงินกู้นอกระบบของผู้รับเหมารายย่อยและลดปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินอีกด้วย” นายอธิปกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ไม่เพียงแต่ผู้รับเหมารายย่อยเท่านั้นที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดในตลาดอสังหาฯ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่ในอนาคตหากมีการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) จะเป็นโอกาสของผู้รับเหมาจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อ สร้างบ้านเราด้วย

ดังนั้น ผู้รับเหมาไทยไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ต่างก็ต้องเร่งปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดสากลมากขึ้น เพราะในอนาคตตลาดที่รออยู่ไม่ใช่เพียงแค่ AEC เท่านั้น แต่จะเป็นตลาด Global ที่เปิดกว้างรอสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมและพัฒนาอยู่เสมอ

    ด้านนายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในปี 2556 แนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวออกไปยังภูมิภาคอย่างชัดเจน ในปี 2555 มีผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 144 ราย (ที่มีรูปแบบชัดเจนและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลจำนวนประมาณ 69 ราย และที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัด จำนวนประมาณ 75 ราย

“ภาพรวมตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยแชร์ส่วนแบ่งตกเป็นของผู้รับเหมารายย่อย ในขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านทั้งใน  กทม. และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดมีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 5-10% โดยปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ในส่วนของสมาคมฯ เองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท” นายสิทธิพรกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในปี 2556 จะมีปัจจัยลบจากปัญหาค่าแรงที่ปรับขึ้น แรงงานที่ขาดแคลน และปัญหาเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป ที่จะกระทบมาถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทส่วนหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกคือ การลงทุนของภาครัฐที่จะกระจายไปในภูมิภาค จะทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดดีขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรมีราคาที่ดี จะเกิดการใช้จ่ายในภูมิภาคมากขึ้น ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดการลงทุนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน จะมีการสร้างบ้านมากขึ้น ต้นทุนการก่อสร้างบ้านในปีหน้าจะขยับขึ้นเฉลี่ย 10% จากค่าแรงและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับบริษัทสามารถที่จะคุมต้นทุนจากการสั่งสินค้าจำนวนมากๆ ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มไม่เกิน 3% ซึ่งหากตัดเรื่องการตลาดและโปรโมชั่นลง ก็ยังสามารถขายในราคาเกินได้
 

NEWS & TRENDS