นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยคาดการณ์ว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีมีผลกระทบประมาณ 1 ล้านรายและแรงงานตกงานประมาณ 6.4 แสนคน รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแบบขั้นบันไดให้แก่ผู้ประกอบการในวงเงิน 1.4 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีว่า ตนเชื่อว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวกว่า 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดังกล่าว
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยคาดการณ์ว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีมีผลกระทบประมาณ 1 ล้านรายและแรงงานตกงานประมาณ 6.4 แสนคน รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแบบขั้นบันไดให้แก่ผู้ประกอบการในวงเงิน 1.4 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีว่า ตนเชื่อว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวกว่า 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้มีการหารือกับภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง กระทั่งได้ข้อสรุปออกมา 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี การเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และรัฐบาลได้ขยายการใช้ 11 มาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปีในปี 2556
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ล่าสุดภาคธุรกิจได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมอีกเกือบ 10 มาตรการ ยังเหลือเพียงมาตรการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯว่าจะเห็นชอบออกมาตรการนี้หรือไม่
“จากการประเมินสถานการณ์ยังไม่มีสัญญาณว่า จะมีการเลิกจ้างอย่างรุนแรง เพราะตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่ามีผู้ว่างงานน้อยมาก แต่ผมก็ไม่ประมาทได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะเห็นตัวเลขการเลิกจ้าง เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่ชัดเจนในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานน่าเป็นห่วงมากกว่าปัญหาเลิกจ้าง เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆมีปัญหาขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้น จะต้องส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบตั้งแต่ระดับม.ต้นจนถึงปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศผ่านระบบความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างประเทศ เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม เพื่อมาทำงานด้านประมง” รมว.แรงงาน กล่าว