ห่วง 6 ปัจจัยเสี่ยง ปี 56 กด SMEs ทรุด

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ส.อ.ท. มีความกังวล 6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ชะลอตัว หรือทรุดตัวลง ประกอบด้วย 1.ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการขาดแคลนแรงงานทุกกลุ่ม, 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, 3.ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก, 4.การปรับราคาของวัสดุดิบในการผลิตสินค้าอย่างเหล็ก เคมีภัณฑ์ กระดาษ, 5.ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และ 6.ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนของประกอบการโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์

 





นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ส.อ.ท. มีความกังวล  6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ชะลอตัว หรือทรุดตัวลง ประกอบด้วย 1.ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการขาดแคลนแรงงานทุกกลุ่ม, 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, 3.ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก, 4.การปรับราคาของวัสดุดิบในการผลิตสินค้าอย่างเหล็ก เคมีภัณฑ์ กระดาษ, 5.ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และ 6.ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนของประกอบการโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่รัฐบาลน่าจะควบคุมไม่ให้เกิดปัญหากับภาคอุตสาหกรรมได้ เช่น นโยบายภาครัฐโดยพิจารณาทบทวนบางนโยบายใหม่ให้รอบคอบ อย่างเช่น นโยบายการขึ้นก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีให้อยู่ในระดับราคาตลาดโลกที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น, การขึ้นค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆรอบ 4 เดือน รวมถึงต้องเร่งแก้ปัญหาการต่อใบอนุญาตโรงงาน หรืออนุญาตจัดตั้งโรงงานใหม่ให้รวดเร็วกว่าเดิมเพราะผู้ประกอบการบางรายต้องใช้เวลารอนานนับปี เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องการให้หามาตรการเยียวยาธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นรองรับต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น  รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะในอนาคตเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งบานปลายหลังจากที่ต่างชาติทะยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องการไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการให้ผลตอบแทนหรือโบนัสที่ดีกว่า

“เบื้องต้น ส.อ.ท. ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม เช่น การเปิดให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศ อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ เข้ามาทำงานในไทยด้วยหลังจากปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพราะพึ่งแต่แรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ติดกับไทยก็คงลำบากแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดกว้างให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวจากที่อื่นด้วย” นายธนิต กล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับเปลี่ยน การรถไฟแห่งประเทศไทย (กฟท.) ในการปรับโครงสร้างดำเนินการ เช่น การแปรรูปให้เอกชนเข้ามาบริหารบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น เร่งการสร้างรถไฟรางคู่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถไฟในการขนส่งมีเพียง 2% ของการขนส่ง หากมีระบบรางคู่ก็จะทำให้การใช้ระบบรางมีมากขึ้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนการใช้ระบบรางที่ 15-16%
 

NEWS & TRENDS