ก้าวเข้าสู่ปีมะเส็งงูเล็กกับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงการเริ่มต้นการบังคับใช้การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่วันละ 300 บาท ที่กำลังเป็นที่จับตามองและกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน หากมองในแง่ของนายจ้าง ไม่ว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือว่าขนาดใหญ่ก็ตาม ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบต่อนโยบายนี้ไปตามๆ กัน
ก้าวเข้าสู่ปีมะเส็งงูเล็กกับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงการเริ่มต้นการบังคับใช้การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่วันละ 300 บาท ที่กำลังเป็นที่จับตามองและกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน หากมองในแง่ของนายจ้าง ไม่ว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือว่าขนาดใหญ่ก็ตาม ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบต่อนโยบายนี้ไปตามๆ กัน
ผลที่เกิดขึ้นดูจะเป็นไปในทางลบมากกว่าบวก ตรงกันข้ามกับคนที่เป็นลูกจ้างหรือชนชั้นแรงงานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดูเหมือนจะมีรอยยิ้มกันมากขึ้น เพราะแม้ค่าแรง 300 บาทต่อวันจะไม่ได้ทำให้ชีวิตลูกจ้างลืมตาอ้าปากได้ในทันที แต่ก็น่าจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง คล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญคือมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไป
หากจะพิจารณาย้อนหลังถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา ตั้งแต่ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นฉบับที่ 7 แล้วจะเห็นว่า ได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้วในบางจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาทไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ยังคงมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 200 กว่าบาท บางที่ก็เกือบ 300 บาท
ดังนั้น ปัญหาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเป็นวันละ 300 บาทในครั้งนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะเกินความคาดหมายของเจ้าของกิจการน้อยใหญ่ ซึ่งย่อมจะต้องหาทางเตรียมตัวมานานแล้วและไม่น่าเกินความสามารถในการบริหารจัดการของนายจ้าง เพราะว่ายังไงนายจ้างก็ต้องมีการบริหารจัดการในด้านต้นทุนอื่นๆ เป็นปกติอยู่แล้ว เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าการตลาด ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เพื่อได้ผลผลิตมาก และมีกำไรมากขึ้น
เนื่องจากการดำเนินธุรกิจต้องอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ก็คือ ลูกจ้าง นั่นเอง ดังนั้น หากมองในมุมบวก นายจ้างสามารถใช้วิธีการปรับขึ้นค่าแรง เป็นวิธีที่จะซื้อใจลูกจ้าง ทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร เมื่อรู้สึกดีกับองค์กรแล้ว ก็จะรัก ทุ่มเท เต็มใจทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้น ประสบความสำเร็จ และดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการทำซีเอสอาร์กับลูกจ้าง ซึ่งเป็นพนักงานในองค์กรไปอีกแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน
การเจียดความมั่งคั่งของเราให้ลูกจ้างสักเล็กน้อย เพื่อให้เขาอยู่รอดและมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง จึงน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งของการตอบแทนสังคม ที่ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เราในบั้นปลาย เพราะเราคงรวยอยู่ผู้เดียวท่ามกลางลูกน้องที่ยากจนไม่ได้หรอกครับ
บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย จาก CP enews