รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2555 มีโรงงานปิดกิจการประมาณ 1,000 ราย มูลค่า 29,000 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน 31,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงทั้งจากวัตถุดิบ และค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ถูกผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศแย่งตลาดสินค้า โดยกิจการที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงงานซ่อมยานยนต์ มอเตอร์ไซค์, ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, เฟอร์นิเจอร์ และขุดลอกดินในโครงการก่อสร้าง เป็นต้น
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2555 มีโรงงานปิดกิจการประมาณ 1,000 ราย มูลค่า 29,000 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน 31,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงทั้งจากวัตถุดิบ และค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ถูกผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศแย่งตลาดสินค้า โดยกิจการที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงงานซ่อมยานยนต์ มอเตอร์ไซค์, ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์, รองเท้า, เฟอร์นิเจอร์ และขุดลอกดินในโครงการก่อสร้าง เป็นต้น
หากเปรียบเทียบมูลค่ากับปีอื่น ถือว่าในปี 2555 มีอัตราที่สูงมาก เพราะในปี 2554 มีเพียง 916 ราย มูลค่าลงทุน 11,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปี 2555 เกือบ 3 เท่าตัว ขณะที่การเลิกจ้างงานมี 21,600 คน น้อยกว่าปี 2555 ประมาณ 10,000 คน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานจะสามารถไปทำงานที่อื่นได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะแรงงานที่มีประสบการณ์ เพราะภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยยังขาดแคลนคนงานหลายแสนตำแหน่ง
สำหรับจังหวัดที่มีการปิดโรงงานในปริมาณมาก เช่น ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดในภาคกลาง และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยอดการปิดโรงงานยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องวิกฤติของภาคอุตสาหกรรม เพราะบางรายเมื่อปิดกิจการแล้วก็ไปเปิดโรงงานใหม่ที่ผู้ประกอบการมีความถนัดมากกว่า และที่สำคัญในปี 2555 มีปริมาณการเปิดโรงงานกว่าการปิดกิจการด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2555 มีโรงงานได้รับอนุญาต 4,000 ราย มูลค่าลงทุนกว่า 172,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 98,500 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีมูลค่าลงทุนสูง เช่น จ.ระยอง จำนวน 67 โครงการ มูลค่า 21,825 ล้านบาท, จ. สมุทรปราการ จำนวน 225 โครงการ มูลค่า 10,729 ล้านบาท, จ.นครราชสีมา จำนวน 108 โครงการ มูลค่า 8,524 ล้านบาท, จ.สระบุรี จำนวน 64 โครงการ มูลค่า 8,418 ล้านบาท, จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 108 โครงการ มูลค่า 8,352 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งการลงทุนของประเทศอยู่แล้ว
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวโน้มการขอรับลงทุนในปี 2556 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 6-7 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 2555 เนื่องจากการลงทุนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติจากในปี 2555 ที่มีการลงทุนจำนวนมากเพราะได้ฟื้นฟูกิจการหลังที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปี 2554 ประกอบกับนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 14-18 ม.ค.นี้จะมีการจัดสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ หลังจากนั้นคาดว่าแผนการสนับสนุนการลงทุนใหม่คณะกรรมการ บีโอไอจะเสนอมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. ก่อนประกาศใช้ช่วงกลางปี 2556 นี้
ส่วนผลกระทบภายหลังที่มีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เพราะมาตรการเพิ่งจะเริ่มต้น และคาดว่าจะเริ่มเห็นผลในวงกว้างอีกประมาณ 2-3 เดือน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปติดตามสถานการณ์ประเมินผลกระทบด้วย
ที่มา : ไทยโพสต์