นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมา พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สามารถผ่านวิกฤติได้ด้วยตนเอง โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือว่าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่ทาง สอท.เสนอไป คือ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีสถานการณ์ไม่ดี
คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เมื่อ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นมาตรการด้านภาษี แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด รวมถึงนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะข่าวเช้านี้ ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมา พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สามารถผ่านวิกฤติได้ด้วยตนเอง โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือว่าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่ทาง สอท.เสนอไป คือ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีสถานการณ์ไม่ดี
"เราต้องการให้ช่วยผู้ที่ปริ่มๆ ลุ้นว่าจะอยู่รอดหรือไม่รอดในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ และเมื่อออกมาแล้วต้องได้ผลในทันที แต่มาตรการที่ออกมากลุ่มนี้ไม่ได้ประโยชน์ แต่เป็นกลุ่มที่เอาตัวรอดได้จะมีประโยชน์ในอนาคต"
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าหลังปรับขึ้นค่าแรงกลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งแต่ เม.ย.2555 ถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 9 เดือน ค่าแรงปรับขึ้น 80-90% ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นจึงต้องการมาตรการเยียวยาแบบเร่งด่วน เห็นผลทันที
ในส่วนของ สอท.ได้ทำงานนี้มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ก่อนปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรก มีการระดมความคิดเห็นทั้งในส่วนภาคเอกชน และหารือร่วมภาครัฐ ก่อนที่จะเสนอมาตรการขอความช่วยเหลือเข้าไปเมื่อ 21 พ.ย. 2555 แต่สิ่งที่ออกมาจากภาครัฐ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการนั้น เห็นว่าอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน และเห็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยรัฐอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นการดำเนินการของส.อ.ท.จากนี้ไป จะหารือกับสมาชิก รวมไปถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ก่อนนำเสนอกลับไปยังรัฐบาลอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง การตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรง ที่เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก
"เราอยากเห็นการแก้ไขแบบเร่งด่วน เพราะช่วงนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่กำลังจะสะดุดเพราะเรื่องของค่าแรง และหวังว่ารัฐจะเข้าใจความต้องการของเอกชนมากขึ้น เพราะมาตรการที่เสนอไปไม่เหลือบ่ากว่าแรงของภาครัฐ เพียงแต่อาจจะยังไม่เห็นความเดือดร้อนที่แท้จริงของเอสเอ็มอี"
นอกจากแนวทางขอความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ในด้านผู้ประกอบการเอง สอท.มีความคิดเชิญผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้กดดันเอสเอ็มอี ซึ่งส่งสินค้าให้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ