ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าผ้าทอกะเหรี่ยงเป็นภูมิปัญญาการทอผ้ากี่เอว ด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวกะเหรี่ยง เผ่าปะกาเกอะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงในจังหวัดตาก มีการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยการทอผ้า ที่เรียกว่า การกี่เอว ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า“ผ้าทอกะเหรี่ยง”เป็นภูมิปัญญาการทอผ้ากี่เอว ด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวกะเหรี่ยง เผ่าปะกาเกอะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงในจังหวัดตาก มีการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยการทอผ้า ที่เรียกว่า การกี่เอว ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี
โดยครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้ากะเหรี่ยง เพื่อการรักษาไว้ซึ่งศิลปะการทอผ้าด้วยกี่เอวที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งเดียวในโลกพร้อมมุ่งหวังให้ “ราษฎรกะเหรี่ยงเกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และมีรายได้ที่พอเพียงในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน”ดังนั้นเพื่อเป็นการ “สร้าง และกระตุ้น” ให้ราษฎรกะเหรี่ยงเกิดความตระหนัก ความรัก ความหวงแหน ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ พร้อมทั้งสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญานั้น มาสู่การพาณิชย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กสอ. จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพผ้าทอกะเหรี่ยงด้วยแนวคิด “การตลาดนำการผลิต”
ทั้งการสร้างการรับรู้ให้กับบุคคลทั่วไป และการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าในอนาคต ทั้งการส่งเสริมการตลาดและทำการสื่อสารการตลาดครบวงจร โดยตลอดระยะเวลา 2 ปี (2554-2555) กสอ.ได้นำกุญแจความสำเร็จ 9ขั้นตอนเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงสู่ผลลัพธ์ที่ได้คือ การพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางจำหน่ายได้ตรงตามความต้องการของตลาด อาทิ เสื้อผ้าเครื่องประดับตกแต่ง กระเป๋า ของใช้บนโต๊ะอาหาร หมอน และตุ๊กตาสัตว์นานาชนิด ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการแสดงศักยภาพของผ้าทอกะเหรี่ยงให้เป็นที่ประจักษ์และพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก
โดยรายละเอียด ทั้ง 9 ขั้นตอนในการพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยง ได้แก่
1. ปรับพื้นฐานความรู้ สู่การสร้างความพร้อม
2. การอบรมเพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการ ในหลักสูตร “การเพิ่มทักษะการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน”
3. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ” เพื่อสร้างจุดขายให้กับสินค้า
4. ศึกษาดูงานในอุตสาหกรรมใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมโดย กสอ. ณ จังหวัดเชียงใหม่และสุโขทัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ
5. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร“เทคนิคการเคลือบสีและลดการตกของสี”เพื่อสร้างจุดเด่น ลบจุดด้อยของสินค้า
6. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “การเพิ่มทักษะด้านการทอด้วยกี่เมือง” เพื่อสร้างความชำนาญรองรับความต้องการจำนวนมากของผู้บริโภค
7. การอบรมเพิ่มทักษะด้านการตัดเย็บ เป้าหมายสู่การสร้างความหลากหลายของสินค้า
8. ทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง เพื่อฟังกระแสของผู้บริโภคในโค้งสุดท้าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดสูงสุด
9. ขั้นสุดท้ายกับการพัฒนาการออกแบบและจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากผ้าทอกะเหรี่ยง สู่การวางเป้าหมายตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้ และผลิตภัณฑ์ Home Textile ที่ใช้ได้ทุกวัน สำหรับลูกค้าระดับกลาง ประชาชนทั่วไป และเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น
การจัดกิจกรรมเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยงครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมแรกที่สามารถประชาสัมพันธ์ศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยงไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสท.) ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยงที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์และดีไซน์นำสมัย เข้ากับคนทุกกลุ่ม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ เสื้อผ้าสำหรับคุณผู้หญิง ชุดเดรส เสื้อคลุมสไตล์ญี่ปุ่น ของใช้สำหรับคุณผู้ชาย ทั้งกระเป๋าเดินทาง และหมวก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์การแสดงแบบแฟชั่นโชว์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง จากนักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และชาวไทย ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของผ้าทอกะเหรี่ยง ภายใต้แนวคิด “จากภูมิปัญญาแผ่นดิน สู่การทำกินที่พอเพียง”