นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้า จ.พิษณุโลก เผยว่านโยบายค่าจ้างแรงงานวันละ 300บาท ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1ม.ค.2556 ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเพียงใด เพราะยังไม่ได้เริ่มใช้ แต่เชื่อมั่นว่าจะต้องมีผลกระทบแน่นอน เพราะพิษณุโลกค่าจ้างแรงงาน 236-237 บาทต่อวัน เมื่อปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาททำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มทันที 30% ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกกระทบไปทุกแห่งเพราะต้นทุนสูงขึ้น
นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้า จ.พิษณุโลก เผยว่านโยบายค่าจ้างแรงงานวันละ 300บาท ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1ม.ค.2556 ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเพียงใด เพราะยังไม่ได้เริ่มใช้ แต่เชื่อมั่นว่าจะต้องมีผลกระทบแน่นอน เพราะพิษณุโลกค่าจ้างแรงงาน 236-237 บาทต่อวัน เมื่อปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาททำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มทันที 30% ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกกระทบไปทุกแห่งเพราะต้นทุนสูงขึ้น
“ภาคธุรกิจก็คงต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นกฎหมายไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน ปล่อยให้ต้นทุนเพิ่ม เพียงแต่สวัสดิการ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ที่ไม่ใช่ค่าแรงอาจต้องถูกตัดออกไป บางรายธุรกิจดีๆก็คงไว้ ขึ้นอยู่กับว่าการประกอบกิจการได้กำไรมากหรือน้อยเป็นหลัก เบื้องต้นผู้ประกอบการอาจรอผลกระทบในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าจะเดือดร้อนเพียงใดจากค่าแรงที่ต้องจ่าย แบกรับภาระเพิ่มขึ้นแค่ไหน แนวทางแก้ไข อาจลดปริมาณคนงานลง ลอยแพคนงานด้อยคุณภาพ ย้ายฐานการผลิต หรือปิดกิจการไปเลย แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ แม้แต่แรงงานพม่า ก็รอค่าจ้าง300บาทต่อวันนี้อยู่ จากเดิมที่จ้างกันทั้งครอบครัว2-3คน 240บาท”นายวิศว ย้ำ
ประธานหอการค้าพิษณุโลก ย้ำอีกว่ารัฐบาลช่วยเหลือผู้ผลิตลำไย ชาวนาปลูกข้าว อุ้มราคายางพารา สามารถช่วยได้ ส่วนผู้ประกอบการก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการSMEsแบกรับภาระต้นทุนที่มากขึ้นจนอาจทนไม่ไหวจากปัญหาขาดทุน และต้องปิดกิจการลงในที่สุด ที่ผ่านมาแม้สภาอุตสาหกรรมมีประเด็นเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้ช่วยเหลือจำนวน 21 ข้อ อาทิ ลดหย่อนภาษี แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสนใจเพียงใด
ขณะที่ นายอภิรัตน์ นุตะมาน กรรมการสหพันธ์แรงงานกิจการโรงแรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่จะมีผลบังคับใช้ทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 ว่า เป็นการสะท้อนตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะเป็นมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าจ้างโดยมติคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละครั้ง น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และหากค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เชื่อว่าแรงงานจะกระจายกลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตัวเองมากขึ้น ไม่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เพราะค่าครองชีพถูกกว่า และได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการระบุว่า หากปรับขึ้นค่าจ้าง อาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่นที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่านั้น ส่วนตัวเห็นว่าผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น จะยึดติดกับตลาดสินค้าราคาถูกจากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำต่อไปอีกไม่ได้ เพราะนับวันตลาดสินค้าราคาถูกจะมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องยกระดับพัฒนาสินค้าให้เข้าไปอยู่ในตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการหาตลาดใหม่ๆ พร้อมสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ