มีรายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวในการรวบรวมเสียงในการปลด นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. และ กรรมการบริหาร ส.อ.ท. อีก 69 คน หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเรียกร้องและเจรจาให้รัฐบาลชะลอในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายแก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะการปรับขึ้นค่าจ้าง 80% ในช่วง 1 ปีกว่าไม่มีประเทศใดดำเนินการลักษณะนี้
มีรายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวในการรวบรวมเสียงในการปลด นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. และ กรรมการบริหาร ส.อ.ท. อีก 69 คน หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเรียกร้องและเจรจาให้รัฐบาลชะลอในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายแก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะการปรับขึ้นค่าจ้าง 80% ในช่วง 1 ปีกว่าไม่มีประเทศใดดำเนินการลักษณะนี้
ทั้งนี้ในช่วงกว่า 1 ปีที่สมาชิก ส.อ.ท. ในต่างจังหวัดจำนวนมากประเมินว่า ประธาน และกรรมการบริหาร ส.อ.ท. บางกลุ่มไม่มีการดำเนินการเจรจากับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ปล่อยให้เวลาผ่านไปจนเหลือเพียง ประมาณ 45 วันก็จะมีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 300 บาทแล้ว แม้ว่าในระยะหลังผู้บริหารจะเร่งดำเนินการเรียกร้องรัฐบาล แต่อาจจะไม่ทันการแล้ว
นอกจากนี้การบริหารงานใน ส.อ.ท. ก็ยิ่งมีความแตกแยกกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการต่อสู้กัน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดที่เดือดร้อนจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 70-80% ของสมาชิกทั้งหมด 8,000 คน และกลุ่มนายทุนใหญ่ ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของคนไทย และบริษัทข้ามชาติที่แต่ละปีจะมีกำไรระดับ 100 ล้านบาทถึงระดับ 10,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้มีสมาชิก 20-30%
“ตอนนี้เอสเอ็มอีต่างจังหวัดกำลังรวมรวบรายชื่อเพื่อขอปลดกกรรมการบริหาร ส.อ.ท. และ ประธาน ส.อ.ท. รวม 70 คนออก ซึ่งมั่นใจว่าตามระเบียบของ ส.อ.ท. น่าจะมีช่องที่จะดำเนินการได้ เพราะล่าสุดเอสเอ็มอีต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่พอใจที่ฝ่ายบริหารที่ไม่ยอมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่สมาชิกส่วนใหญ่ได้มากนัก ซึ่งการดำเนินการลักษณะดังกล่าวก็ไม่ต่างจากกรณีของที่ผู้บริหารประเทศที่ประชาชนสามารถลงชื่อในการถอดถอนนักการเมืองหรือรัฐมนตรีได้” แหล่งข่าวระบุ
สำหรับผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดได้มีการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมา 39.5% ส่งผลให้หลายโรงงานได้ปิดกิจการ หรือประสบปัญหาขาดทุนมากยิ่งขึ้น ส่วนการปรับในวันที่ 1 ม.ค. 2556 จะเป็นการปรับค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ครบ 300 บาทต่อวัน อีก 70 จังหวัด หรือเฉลี่ยประมาณ 30-40% ยิ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงไปอีก และจะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง สินค้าแพงขึ้นตามมา
"เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำในต่างจังหวัดปรับขึ้นเท่ากับ 7 จังหวัดนำร่องแล้ว จะก่อให้เกิดแรงงานไหลไปอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในส่วนกลางเพิ่มขึ้นอีก หรือแรงงานหายไปประมาณ 30-40% จากปัจจุบันก็ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ขณะที่โรงงานไม่สามารถย้ายตามแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกไปได้ หากจะจูงใจให้แรงงานอยู่ในพื้นที่เดิม ผู้ประกอบการก็ต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกเพื่อดึงแรงงานไว้ จึงเป็นภาระที่จะตามมาอีก”แหล่งข่าวกล่าวย้ำในที่สุด
ทางด้าน นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 26 พ.ย.2555 จะมีกำหนดประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมีการสอบถามความคืบหน้าจากนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.เกี่ยวกับการผลักดันข้อเสนอของสมาชิกให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.2556 โดยถ้านายพยุงศักดิ์ชี้แจงความคืบหน้าก่อนการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.ก็อาจไม่มีการซักถามเรื่องนี้ในที่ประชุม
ที่มา : แนวหน้า