มติคลังชี้ชัด โสฬส ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง มีการซุกหนี้เน่า แถมปล่อยกู้เสียหายหลายร้อยล้านบาท ครม.ไฟเขียวขยายขอบเขตการทำงานของธนาคารอิสลาม เปิดทางลุยธุรกิจตัวแทนชำระหนี้-บัตรเครดิต พ่วงจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมบุคคลอื่นลุยขายตราสารศุกูก
มติคลังชี้ชัด “โสฬส” ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง มีการซุกหนี้เน่า แถมปล่อยกู้เสียหายหลายร้อยล้านบาท ครม.ไฟเขียวขยายขอบเขตการทำงานของธนาคารอิสลาม เปิดทางลุยธุรกิจตัวแทนชำระหนี้-บัตรเครดิต พ่วงจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมบุคคลอื่นลุยขายตราสารศุกูก
รายงานข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งขึ้น โดยให้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานนั้น ได้มีมติเบื้องต้นว่า นายโสฬส สาครวิศว อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดที่กำกับดูแลงานของเอสเอ็มอีแบงก์ขณะนั้น มีการปฏิบัติหน้าที่โดยหละหลวมและบกพร่องหลายเรื่องดังต่อไปนี้ คือ ปล่อยให้มีการวิเคราะห์สินเชื่อโดยหละหลวม โดยพบว่าข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์สินเชื่อจำนวนมากขาดความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ หลังจากปล่อยสินเชื่อแล้วไม่มีการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และละเลยไม่ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้ทำข้อตกลงกับธนาคารไว้เป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้กับธนาคาร รวมทั้งการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เข้มงวดขาดมาตรฐาน โดยไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน
"ผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดกระทรวงการคลัง และชุดของเอสเอ็มอีแบงก์ ชี้ชัดตรงกันว่ามีการปล่อยปละละเลยในเรื่องที่มีความสำคัญทุกเรื่อง เช่นการปล่อยสินเชื่อในโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินกว่าวงเงินของโครงการ ทำให้ธนาคารเสียหายนับร้อยล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดกระทรวงการคลัง จะเน้นการสอบสวนตามรายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้เข้าตรวจสอบผลดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ ณ สิ้นเดือน มี.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยพบว่าเอสเอ็มอีแบงก์มีการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้างงานเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดที่ 7 พันล้านบาท โดยมีการปล่อยไปถึงสูง 1.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารอาจเสียหายขึ้นในอนาคต รวมทั้งยังพบว่าเอสเอ็มอีแบงก์มีการบันทึกบัญชีลูกหนี้เอ็นพีแอลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยมีการลงบันทึกต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 9 พันล้านบาท โดยบันทึกว่ามีหนี้เอ็นพีแอลที่ระดับ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 15-16% ของยอดสินเชื่อรวมเท่านั้น
นอกจากนี้ ผลสอบของ ธปท.ระบุว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีการปรับโครงสร้างลูกหนี้เอ็นพีเอลไม่ถูกต้อง โดยลูกหนี้จำนวนมากยังไม่ได้มาเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารกลับจัดชั้นเป็นลูกหนี้ดี