กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการกลุ่มธุรกิจจำหน่ายเนื้อโคขุน สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร และกลุ่มธุรกิจจำหน่ายข้าว บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด จังหวัดมุกดาหาร ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ในพื้นที่ภาคอีสาน หวังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558
กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการกลุ่มธุรกิจจำหน่ายเนื้อโคขุน สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร และกลุ่มธุรกิจจำหน่ายข้าว บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด จังหวัดมุกดาหาร ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ในพื้นที่ภาคอีสาน หวังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558
นายสมชาย หาญหิรัญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และจนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 600 แห่ง มีผลตอบแทนที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้กว่า 2,600 ล้านบาท
สำหรับในปี 2555 นี้ มีสถานประกอบการ เข้าร่วมโครงการมากถึง 158 แห่งจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยขณะนี้การดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับผลสำเร็จมากกว่า 80 % แล้ว ดังนั้น จึงได้นำคณะผู้บริหาร รวมถึงสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานประกอบการที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในการพัฒนา 6 แผนงานหลัก ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยสามารถสร้างเสริมศักยภาพของสถานประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อพร้อมสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ อีกทั้งยังสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558