ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้เลือกตั้งสหรัฐไม่กระทบไทย

เนื่องจากผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ภายใต้ช่วงเวลาของการเข้าบริหารประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจสำหรับสหรัฐฯ เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเงิน-การคลังของภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Risks) ด้วยเช่นกัน

 


เนื่องจากผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ภายใต้ช่วงเวลาของการเข้าบริหารประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจสำหรับสหรัฐฯ เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเงิน-การคลังของภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Risks) ด้วยเช่นกัน
 
        ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ที่จะเข้าสาบานตนวันที่ 20 มกราคม 2556 คงจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตหนี้ของยุโรป ความสามารถในการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจจีน และเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ที่มีความสำคัญไม่น้อย ประกอบภาพเข้ามาด้วย 

ผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทย จะเชื่อมโยงเข้ากับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สหรัฐฯ น่าจะไม่เผชิญกับภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบในปี 2556 ไม่ว่าชัยชนะจากศึกเลือกตั้งจะเป็นของโอบามาหรือรอมนีย์ ก็ตาม 

อย่างไรก็ดี กระบวนการขั้นตอน ความยากง่ายในการต่อรองระหว่างสภาคองเกรส-ทำเนียบขาว ที่ในอีกด้านหนึ่งจะสะท้อนผลของการคานอำนาจทางการเมืองของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน อาจทำให้โอกาสของการเกิดภาวะ Mini Fiscal Cliff อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน แต่โดยสุทธิแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีข้างหน้า น่าที่จะข้ามพ้น “บททดสอบเฉพาะหน้า” จากภาวะหน้าผาทางการคลังไปได้ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากนัก
 
 
       อย่างไรก็ดี องค์ประกอบของมาตรการทางภาษีของนายรอมนีย์ที่ค่อนข้างผ่อนปรนและเอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่านายโอบามา ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวสูงกว่ากรณีพื้นฐานที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.1 ซึ่งย่อมจะทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านผู้นำของสหรัฐฯ อยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 4.5-5.5 น่าจะยังเหมาะสมและสามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้

ผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากมองภาพที่ไกลขึ้นหลังปี 2556 ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นเป็นสมัยที่ 2 ของนายโอบามา หรือสมัยแรกของนายรอมนีย์ ประธานาธิบดีที่คนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็น่าจะต้องรับมือกับ “โจทย์รักษาเสถียรภาพการคลังในระยะยาวของสหรัฐฯ” ที่ไม่แตกต่างกัน โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในคนละรายการ (นายโอบามาเพิ่มในส่วนสวัสดิการ/ระบบประกันสุขภาพ ขณะที่ นายรอมนีย์เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม)
 
        ขณะที่ รายได้ของภาครัฐยังขึ้นอยู่กับผลสุทธิจากมาตรการภาษี (ซึ่งนายโอบามาเน้นอัตราก้าวหน้า แต่นายรอมนีย์ผ่อนปรนต่อภาคธุรกิจมากกว่า) ต่อการประคองทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ  ยังคงต้องแบกหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงหลายปีข้างหน้า ดังนั้น สำหรับไทยแล้ว โจทย์ในระยะยาวที่ทางการและภาคธุรกิจไทยจะต้องคำนึงถึงและผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่น่าจะเสริมสร้างอานิสงส์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงในระยะยาว 
 

NEWS & TRENDS