ทีดีอาร์ไอชี้ขึ้นค่าแรง 1 ม.ค. 56 กดจีดีพีลด2-3%

ประธานทีดีอาร์ไอแนะรัฐทยอยปรับค่าแรง ชี้หากขึ้นทันที 300 บาททั่วไทย 1 ม.ค. ฉุดจีดีพีปี 2556 หดไป 2-3%

 


ประธานทีดีอาร์ไอแนะรัฐทยอยปรับค่าแรง ชี้หากขึ้นทันที 300 บาททั่วไทย 1 ม.ค. ฉุดจีดีพีปี 2556 หดไป 2-3%

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในการเสนอผลการศึกษาเรื่อง ”อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ว่า จากสภาพแวดล้อมใหม่ในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่เผชิญกับปัญหาสินค้าที่ใช้แรงงานราคาถูกของจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในการสร้างแรงงานที่มีฝีมือควบคู่กับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของตลาดส่งออกที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยในอนาคตน่าจะไม่ขยายตัวสูงขึ้นมาก หลังจากคู่ค้าทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ชะลอตัวลง 

หากรัฐบาลเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 300 บาทอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้า การแข่งขันของภาคเอกชนในประเทศ ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานในแรงงานระดับล่าง จนถึงการลงทุนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด

โดยค่าแรงที่สูงขึ้น จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงเครื่องหนัง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและเม็ดพลาสติก และก่อสร้าง

โดยจากสมมติฐานผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศทันทีในวันที่ 1 ม.ค.2556 โดยไม่มีปัจจัยอื่นๆ เปลี่ยนแปลงทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือการปรับราคาสินค้า จะทำให้จีดีพีในปีหน้าลดลง 2-3% ทันที

“แนวคิดการปรับขึ้นค่าแรง นักวิชาการมองว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ เพราะจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงาน แต่ปัญหาคือการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นพร้อมกันในอัตราเดียวกันทั้งประเทศทั้งที่อุปสงค์ อุปทานในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน อาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมายัง กทม.และพื้นที่ใกล้ท่าเรือ เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง" นายสมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงนั้น รัฐบาลควรคิดล่วงหน้าในระยะยาว และมีแผนปรับค่าจ้างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปแบบปีต่อปี หรือแผนระยะ 5 ปี เป็นต้น โดยค่าแรงที่ควรจะเป็นนั้นต้องมาจากอัตราค่าแรงในปัจจุบัน คำนวณกับผลิตผลของแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อด้วย


ที่มา : ไทยโพสต์
 

NEWS & TRENDS