เร่งชงครม. ถก FTA อียูดันไทยฮับอาเซียน

พาณิชย์รวบรวมผลดี-ผลเสียเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนชง ครม.พิจารณา ตั้งเป้าเปิดเจรจาต้นปีหน้า เผยช่วยดันไทยเป็นฮับของอียูในอาเซียน แก้ปัญหาถูกตัด GSP

 

พาณิชย์รวบรวมผลดี-ผลเสียเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนชง ครม.พิจารณา ตั้งเป้าเปิดเจรจาต้นปีหน้า เผยช่วยดันไทยเป็นฮับของอียูในอาเซียน แก้ปัญหาถูกตัด GSP 

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างพิจารณาขอบเขตของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และกำลังรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จและเสนอรัฐบาลพิจารณาประกาศเริ่มการเจรจากับอียูอย่างเป็นทางการได้ต้นปี 2556 

ทั้งนี้ ในการเจรจา FTA กับอียู จะช่วยสร้างโอกาสให้กับไทยในการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของอียูในด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และบริการ เพราะอียูเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของโลก มีสัดส่วนการลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนสะสมทั่วโลก

ส่วนด้านการค้า หากไทยไม่ทำ FTA กับอียู จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งกับสินค้าของประเทศอื่นๆ ในอียู และยังอาจมีผลต่อการย้ายฐานการลงทุนไปในอาเซียนอื่นที่มีความตกลง FTA กับอียูได้ และการทำ FTA จะช่วยแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) โดยปัจจุบันสินค้าที่ถูกตัด GSP จะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ รองเท้า กุ้งสดแช่เย็น ของปรุงแต่งจากกุ้ง อาหารสำเร็จรูป ถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ทั้งการจัดเวทีสาธารณะ การจัดสัมมนา และกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ และล่าสุดได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในลักษณะโฟกัสกรุ๊ปจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเหล็ก 2.กลุ่มสินค้าแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง 3.กลุ่มสินค้ายา 4.กลุ่มบริการสาขาการเงิน ธนาคาร ท่องเที่ยว โรงแรม และแอนิเมชั่น 5.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร 6.กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 7.กลุ่มสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองพันธุ์พืช.
 

NEWS & TRENDS