สอท. เล็งใช้เวที กรอ.ยื่น 5 ข้อ เสนอนายก "ปู" 21 ต.ค.2555 ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 70 จังหวัด ในวันที่ 1 ม.ค.2556 ยันกระทบต้นทุนการผลิตพุ่ง 40% พร้อมวอนภาครัฐเร่งหาทางเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หวั่นผู้ประกอบการย้ายฐานผลิตซบเพื่อนบ้าน
สอท. เล็งใช้เวที กรอ.ยื่น 5 ข้อ เสนอนายก "ปู" 21 ต.ค.2555 ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 70 จังหวัด ในวันที่ 1 ม.ค.2556 ยันกระทบต้นทุนการผลิตพุ่ง 40% พร้อมวอนภาครัฐเร่งหาทางเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หวั่นผู้ประกอบการย้ายฐานผลิตซบเพื่อนบ้าน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ต.ค.2555 ส.อ.ท.จะนำปัญหาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2556 เข้าหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) สัญจรภาคใต้ เพื่อขอให้ชะลอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท สำหรับ 70 จังหวัดที่เหลือ และให้คงค่าจ้างขั้นต่ำไว้จนถึงปี 2558
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสมาชิก ส.อ.ท.เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และได้ยื่นผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2556 ในอีก 70 จังหวัด หลังจากนำร่องขึ้นไปแล้ว 7 จังหวัด เนื่องจาก ส.อ.ท.เห็นว่า หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปทุกจังหวัดเท่ากันหมด จะทำให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นตามได้ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าลดลง หรือไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งทางรัฐบาลรับทราบในเบื้องต้นแล้ว
"ที่สำคัญผู้ประกอบการยังไม่สามารถปรับตัวตามระยะเวลาที่กำหนดได้ทัน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะต้องให้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งหากจะปรับค่าจ้างขึ้นไปจริง รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วง อาทิ อาหาร สิ่งทอ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีความจำเป็นจะต้องใช้แรงงานเป็นหลัก ดังนั้นก็มีผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีการขยายฐานผลิตไปเพื่อนบ้านบางส่วนเพื่อลดต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น" นายพยุงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการหารือของสมาชิก ส.อ.ท.ทั่วประเทศ ได้มีข้อสรุปร่วมกัน 5 ข้อ จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยข้อแรก จะให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันไว้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2558 แต่หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของลูกจ้างคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะอนุกรรมการค่าจ้าง สามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 2 การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อ 3 ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ (หากมี) จะต้องจบการศึกษาขั้นต่ำ ประถมศึกษาปีที่ 4 โดยได้รับใบประกาศนียบัตร หรือเอกสารรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ 4 หลังจากวันที่ 31 ธ.ค.2558 เป็นต้นไป ให้ยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นแบบลอยตัว โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และข้อ 5 รัฐบาลจะต้องมีโครงการช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีโครงการฟื้นฟูผู้ประกอบการ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจ กล่าวว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีเวลาทบทวนปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบ เนื่องจากที่ผ่านมา การใช้แรงงานในต่างจังหวัดได้มีการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมา 39.5% ส่วนการปรับครั้งนี้จะเป็นการปรับค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ครบ 300 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยประมาณ 30.5% ยิ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงไปอีก และจะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง สินค้าแพงขึ้นตามมา
"เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำในต่างจังหวัดปรับขึ้นเท่ากับ 7 จังหวัดนำร่องแล้ว จะก่อให้เกิดแรงงานไหลไปอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในส่วนกลางเพิ่มขึ้นอีก หรือแรงงานหายไปประมาณ 30-40% จากปัจจุบันก็ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ในขณะที่โรงงานไม่สามารถย้ายตามแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกไปได้ หากจะจูงใจให้แรงงานอยู่ในพื้นที่เดิม ผู้ประกอบการก็ต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกเพื่อดึงแรงงานไว้ จึงเป็นภาระที่จะตามมาอีก" นายธนิต กล่าว.
ที่มา : ไทยโพสต์