ประชาชนร้องเรียนพบ "ร้านถูกใจ" ทุจริต

ประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 แฉ “ร้านถูกใจ”ไม่มีสินค้าจำหน่าย แต่ติดป้ายไว้หวังเงินค่าจ้างจาก “พาณิชย์” 9,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กรมการค้าภายในลงพื้นที่ตรวจสอบยอมรับเป็นเรื่องจริง คาดว่ามีอยู่ 10-20% จากผู้ร่วมโครงก

 


ประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 แฉ “ร้านถูกใจ”ไม่มีสินค้าจำหน่าย แต่ติดป้ายไว้หวังเงินค่าจ้างจาก “พาณิชย์” 9,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กรมการค้าภายในลงพื้นที่ตรวจสอบยอมรับเป็นเรื่องจริง คาดว่ามีอยู่ 10-20% จากผู้ร่วมโครงการทั้งหมด 16,000 ร้านขู่ขึ้นแบล็กลิสต์พร้อมคัด 6,000 ร้าน ออกจากโครงการ

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่าที่ผ่านมา ได้รับรายงานผลการดำเนินโครงการ โชห่วย ช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” พบว่ามีร้านค้าที่เข้าร่วมร้านถูกใจราว 10-20% ไม่ได้มีการจำหน่ายสินค้าหรือประกอบธุรกิจร้านโชห่วยจริง แต่สมัครเข้ามาเพื่อหวังรับเงินต่อเดือน 9,000 บาทหรือวันละ 300 บาทเท่านั้น นอกจากนี้มีประชาชนร้องเรียนเรื่องดังกล่าวผ่านสายด่วน 1569 ด้วย

ดังนั้น กรมจะนำเรื่องดังกล่าวใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ร้านดังกล่าว พร้อมทั้งการยกเลิกสัญญา ยึดอุปกรณ์คืน รวมทั้งจะแบล็กลิสต์(บัญชีดำ)ร้านนั้นๆ ด้วยเพราะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทำสัญญาไว้ว่าจะต้องมีการซื้อขายจริง

ปัจจุบันมีร้านเข้าร่วมมากถึง 16,000 ร้าน สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 10,000 ราย ดังนั้น กรมจะปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการใหม่ โดยต้องคัดเลือกเฉพาะร้านที่มีความสนใจร่วมโครงการร้านถูกใจจริงเท่านั้น เบื้องต้นจะคัดเลือกโดยประเมินจากร้านค้าที่มียอดสั่งซื้อขาย และอยู่ในชุมชน สามารถช่วยเหลือประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้อย่างแท้จริง คาดว่าจะคัดออกไป 6,000 ร้าน ให้เหลือเพียง 10,000 ร้านค้าเท่านั้น

นอกจากนี้ จะลดค่าจ้างลงจากวันละ 300 บาท เหลือวันละ 200 บาท เพื่อดูความตั้งใจว่าเมื่อลดค่าจ้างลงแล้วจะยังมีผู้สนใจร่วมโครงการนี้อยู่หรือไม่ เพื่อส่วนหนึ่งจะได้นำเงินไปเพิ่มในส่วนอื่น โดยจะมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ ส่วนกรณีห้างแม็คโครที่มีกระแสข่าวว่าได้ถอนตัวออกจากโครงการนั้นไม่เป็นความจริง และยังคงทำหน้าที่กระจายสินค้าให้อยู่ตามปกติ

“ที่ผ่านมาได้รับรายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานจากทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนผ่านสายด่วน 1569 พบว่ามีร้านค้าที่เข้าร่วมร้านถูกใจราว 10-20% ไม่ได้มีการจำหน่ายสินค้าหรือประกอบธุรกิจร้านโชห่วยจริง แต่สมัครเข้ามาเพื่อหวังรับเงินต่อเดือน 9,000 บาท หรือวันละ 300 บาทเท่านั้น ซึ่งทางกรมจะใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ร้านดังกล่าว ทั้งการยกเลิกสัญญา ยึดอุปกรณ์คืนรวมทั้งจะแบล็กลิสต์”นายสันติชัย กล่าว

          ในการปรับปรุงโครงการร้านถูกใจจะมีการเพิ่มเงื่อนไขให้เข้มงวดมากขึ้น โดยการกำหนดรอบการสั่งซื้อสินค้าขั้นต่ำต่อเดือน รวมทั้งจะติดตามประเมินผลบ่อยครั้งขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในรอบร้านค้าชุมชนให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กรมอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้งบประมาณสูญเปล่าอย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าโครงการร้านถูกใจที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะเป็นครั้งแรกและจะนำข้อบกพร่องไปแก้ไขต่อไป

          ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการ โชห่วย ช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” โดยได้รับอนุมัติงบดำเนินการ 1,320 ล้านบาท เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นต่อการครองชีพราคาต่ำกว่าท้องตลาด 10-20% ได้เปิดรับสมัครร้านค้า และสหกรณ์ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2555ที่ผ่านมา

         ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนจากเจ้าของร้านถูกใจว่า ไม่มีสินค้าส่งมาให้ขาย นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวการสวมสิทธิ์เกิดขึ้นด้วย โดย เจ้าของร้านที่ได้รับการอนุญาตให้ขายรายหนึ่ง โทรศัพท์ถามเจ้าพนักงานเรื่องเงินตกแต่งร้าน แต่ได้รับแจ้งว่า ได้รับเงินตกแต่งร้านไปแล้วทั้งที่เจ้าของร้านยังไม่ได้รับเงิน นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตสินค้าในร้านว่าถูกกว่าราคาในท้องตลาดทั่วไปจริงหรือไม่ด้วย

NEWS & TRENDS