กสิกรไทยสัมมนาเชิงโต้วาทีกระตุ้น SME เปิดตลาด AEC

กสิกรไทยเตรียมความพร้อมให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดสัมมนาเชิงโต้วาทีในหัวข้อ “รุก รับ เลิก เจาะลึก AEC ที่คุณต้องรู้” โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงให้องค์ความรู้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน



กสิกรไทยเตรียมความพร้อมให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดสัมมนาเชิงโต้วาทีในหัวข้อ “รุก รับ เลิก เจาะลึก AEC ที่คุณต้องรู้” โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงให้องค์ความรู้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน 

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการสัมมนาเกี่ยวกับ AEC โดยเป็นการสัมมนาเชิงโต้วาทีที่มีวิทยากรเป็นนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจในประเทศอาเซียน ผลัดขึ้นมาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการรุกและตั้งรับการขยายธุรกิจในตลาดอาเซียนเพื่อวางแผนรองรับ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558

โดยการสัมมนาเชิงโต้วาทีในครั้งนี้ เริ่มจากนักวิชาการฝ่ายรุกอย่างดร.กฤติกา คงสมพงษ์ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอข้อมูลว่าปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อสูงขึ้น “สื่อ” คือเครื่องมือสำคัญในการเจาะตลาด AEC โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า, ลาว, เขมร ที่มีไลฟ์สไตล์การบริโภคใกล้เคียงกับไทย ธุรกิจที่น่าเข้าไปลงทุนเป็นพิเศษ ได้แก่ เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง และธุรกิจที่ต่อยอดจากเรื่องความสวยความงาม

ในขณะที่นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการผู้จัดการ บมจ. บูติคนิวซิตี้ จำกัด แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถรุกด้านการตลาดได้ โดยเริ่มจากหาข้อมูลและสร้างเครือข่ายพันธมิตร สิ่งสำคัญคือ ความจริงใจต่อคู้ค้า และผู้ประกอบการ SME ไทยต้องรู้จุดยืนในการทำธุรกิจของตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อนจึงจะไปเปิดตลาดในอาเซียน ต้องรู้เขารู้เรา โดยเฉพาะในด้านกฎหมายการลงทุนของแต่ละประเทศ

ด้านตัวแทนฝ่ายรับอย่างนายรังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สุโขสปา ที่นำจุดขายอย่างวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จบอกว่า หลังเปิด AEC การแข่งขันทางธุรกิจโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจะมีความแหลมคมขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรหยุดนิ่ง ต้องเร่งพัฒนาตนเอง โดยรักษาตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ให้ได้ ซึ่งดร.การดี เลียวไพโรจน์ นักวิชาการจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมประเด็นนี้ว่า ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับอย่างเตรียมพร้อมและมีระบบ เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ที่สำคัญคือ ต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ สร้างสรรค์ธุรกิจสินค้าและบริการใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็คือการตั้งรับแบบมีการปรับปรุงนั่นเอง

ทั้งนี้ วิทยากรทั้งสองฝ่ายสรุปว่า การขยายตลาดในอาเซียน ไม่ใช่การรุกหรือตั้งรับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งรุกในเชิงรับ และรับในเชิงรุก ซึ่งจะต้องระวังในเรื่องของความเสี่ยง และประเด็นทางด้านวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย
 

NEWS & TRENDS