สสว. จับมือ KOSGEB แห่งตุรกี สนับสนุนเอสเอ็มอีภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จัด Business Matching และตั้งศูนย์ปรึกษาทางธุรกิจ มุ่งเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดของทั้ง 2 ฝ่ายและกลุ่ม AEC นำร่อง 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ทั้งกลุ่มสิ่งทอ สปา และ IT เชื่อมั่นจะเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ให้เชื่อมเข้าสู่ Global Supply Chain
สสว. จับมือ KOSGEB แห่งตุรกี สนับสนุนเอสเอ็มอีภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จัด Business Matching และตั้งศูนย์ปรึกษาทางธุรกิจ มุ่งเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดของทั้ง 2 ฝ่ายและกลุ่ม AEC นำร่อง 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ทั้งกลุ่มสิ่งทอ สปา และ IT เชื่อมั่นจะเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ให้เชื่อมเข้าสู่ Global Supply Chain
นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ องค์การพัฒนา SMEs แห่งตุรกี (Small and Medium Enterprises Development Organization, Republic of Turkey: KOSGEB) และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานส่งเสริมเครือข่าย SMEs ไทย-ตุรกี ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการสร้างโอกาสเชิงธุรกิจในไทย ตุรกี และกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐต่อการพัฒนาเครือข่าย SMEs ไทย-ตุรกี
“กิจกรรมความร่วมมือระหว่าง สสว. และ KOSGEB ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ในการร่วมกันส่งเสริมเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ โดยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างเอสเอ็มอี ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อมูล คำแนะนำทั้งด้านการตลาด เทคนิคการทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมชมกิจการของ SMEs ระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” รักษาการ ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่าง สสว. และ KOSGEB โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการตามแผนงานและติดตามผลการดำเนินงาน ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะมีการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทั้งในรูปแบบของเว็ปไซต์ การประชุมสัมมนาและ Workshop กับผู้เชี่ยวชาญ ที่ครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การให้ความรู้เกี่ยวกับบรรยากาศการค้าการลงทุน โอกาสทางการตลาดของแต่ละฝ่าย ทำ workshop ในเรื่อง best practice ของกันและกัน รวมถึงการเยี่ยมชมกิจการระหว่างกันเพื่อส่งเสริมให้เกิด Joint Venture 2.การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายโดยไม่คิดมูลค่า จัด Business Trip ของ SMEs ในลักษณะต่างตอบแทน 3.จัดตั้งศูนย์สนับสนุนธุรกิจ เช่น จัดหาข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจ จัดการประชุม จัด Business Matching
ทั้งนี้ การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเอสเอ็มอี ไทย-ตุรกี เพื่อขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจาก สสว. และ KOSGEB กำหนดกิจกรรมนำร่องใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มสปา และกลุ่ม IT โดยมีแผนจะดำเนินการในเรื่องการพบปะผู้เชี่ยวชาญของตุรกีเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาด แนวทางแก้ปัญหาของกลุ่ม SMEs ไทย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตุรกี และเชื่อมโยงให้พบกับคู่ค้าที่เหมาะสม รวมทั้งจัด Business Trip เพื่อให้เอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ ได้มีโอกาสในการเจอคู่ค้า และการเข้าสู่ Global Supply Chain
สำหรับประเทศตุรกี นับว่ามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งขนาดของ GDP ที่ใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก เป็นสมาชิกก่อตั้งของ OECD กลุ่ม G-20 และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ EU Customs Union โดยถูกจัดให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่สำคัญมีที่ตั้งที่นับเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอยู่กึ่งกลางระหว่างเอเซีย ยุโรปและอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งไทยสามารถใช้เป็นประตูการค้าไปยังกลุ่มประเทศบอลข่าน ยุโรปตะวันออก สหภาพยุโรป ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของเอสเอ็มอีไทย
ในส่วนองค์การเพื่อการพัฒนา SMEs แห่งตุรกี (Small and Medium Enterprises Development Organization, Republic of Turkey : KOSGEB) อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายส่วนแบ่งของ SMEs และเพิ่มประสิทธิภาพของ SMEs ปรับปรุงเพิ่มพูนอำนาจในการแข่งขันและยกระดับการแข่งขันของ SMEs รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการบูรณาการทางอุตสาหกรรมในลักษณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจของตุรกี
การสนับสนุนและบริการต่างๆ ของ KOSGEB แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ให้การสนับสนุนภายในขอบข่ายของ “Support Programs Regulation” 2.ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน (ดอกเบี้ยสินเชื่อ) ของ KOSGEB 3. บริการด้านห้องแลป โดยมีความชำนาญพิเศษในด้านโลหะ พลาสติก ยาง สิ่งทอ และสิ่งแวดล้อม 4. สนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร และให้คำแนะนำ