แจงครม.แผนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม

ที่ประชุมครม.รับทราบแนวทางการเตรียมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่อุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้มีความมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การผลิตและการส่งออกสินค้าต้องดำเนินการไปได้ต่อเนื่อง

 


นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.รับทราบแนวทางการเตรียมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่อุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้มีความมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การผลิตและการส่งออกสินค้าต้องดำเนินการไปได้ต่อเนื่อง 
 
        โดยระบบป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานนั้น ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯร่วมดำเนินงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนิคมฯบางปะอิน และนิคมฯไฮเทค ซึ่งขณะนี้คืบหน้าแล้ว 95% ส่วนนิคมฯสหรัตนนคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ. อยู่ระหว่างก่อสร้างเขื่อนชั่วคราวให้ และทั้ง 3 นิคมฯได้ฝึกซ้อมแผนโต้ตอบภาวะฉุกเฉินเมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนระบบป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯที่กนอ.ดำเนินการเอง 6 แห่ง คือนิคมฯบางชัน, นิคมฯลาดกระบัง, นิคมฯ บางปู, นิคมฯบางพลี, นิคมฯสมุทรสาครและนิคมฯพิจิตร แยกเป็นมาตรการป้องกันระยะสั้น คือการสร้างความแข็งแรงของเขื่อนและระบบป้องกันน้ำท่วมด้วยการสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติม ตรวจสอบคันดินตลอดความยาวของคันดินรอบนิคมฯทุกวันร่วมกับผู้ประกอบการ รักษาระดับความแตกต่างระหว่างระดับน้ำในคลองด้านนอกและคลองด้านในเพื่อลดปัญหาคันดินชำรุด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากนิคมฯโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวาง เช่นผักตบชวา และวัชพืชต่างๆโดยรอบนิคมฯ
 
ส่วนมาตรการป้องกันระยะยาว ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตามหลักเกณฑ์การออกแบบใหม่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนพ.ย.55 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.56 ในวงเงิน 3,546ล้านบาท ซึ่งมติครม.เมื่อเดือนก.ค.55 เห็นชอบให้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน ซึ่งกนอ.อยู่ระหว่างจัดจ้างผู้รับจ้างตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ
 
นายชลิตรัตน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีแนวทางเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันอุทกภัย ด้วยการขุดลอกลำรางระบายน้ำและทยอยสูบระบายน้ำออกเพื่อพร่องน้ำในลำรางระบายน้ำและบ่อเก็บกักน้ำฝนภายในนิคมฯโดยระวังไม่ให้กระทบต่อชุมชนใกล้เคียง เร่งจัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทรายและอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมใช้งาน จัดเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานเวรตลอด 24 ช.ม. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรองพื้นที่นิคมฯอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ที่มา : เดลินิวส์

NEWS & TRENDS