สสว.ควบรวมธุรกิจความงาม บุกเมียนมาร์

สสว. เดินหน้าสร้างแต้มต่อ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Wellness) มุ่งติดอาวุธทางปัญญา พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ นำร่องเชื่อมโยงเครือข่ายกับ “เมียนมาร์” เพราะเป็นทั้งตลาดการค้า แหล่งวัตถุดิบ และโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจในลักษณะ Value Chain คาดเตรียมความพร้อม SMEs ก่อนเข้าสู่ AEC และเกิดการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 60 คู่ มูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

 


สสว. เดินหน้าสร้างแต้มต่อ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Wellness) มุ่งติดอาวุธทางปัญญา พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ นำร่องเชื่อมโยงเครือข่ายกับ “เมียนมาร์” เพราะเป็นทั้งตลาดการค้า แหล่งวัตถุดิบ และโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจในลักษณะ Value Chain คาดเตรียมความพร้อม SMEs ก่อนเข้าสู่ AEC และเกิดการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 60 คู่ มูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท 

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม (Wellness) เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีศักยภาพและมีความได้เปรียบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเซีย ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ การเสริมความงาม ตลอดจนการดูแลผู้สูงอายุ เห็นได้จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าประเทศไทยมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลมากที่สุดในเอเซีย ซึ่งในปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.87 ล้านคน และผลจากการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่เจริญเติบโตอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 

ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน รวมถึงการมีเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว สสว. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยระหว่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรม Wellness ขึ้น 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพกับเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรม Wellness เพื่อการท่องเที่ยว ทั้งโดยการเสริมสร้างข้อมูลความรู้ และขยายโอกาสทางการตลาดด้วยการจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนและส่งเสริมเอสเอ็มอีกับตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องในการศึกษาและดำเนินกิจกรรม คือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ทั้งนี้เนื่องจากเมียนมาร์เป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 60 ล้านคน มีแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ และมีแรงงานราคาถูก เมื่อมองถึงการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวกับไทย ก็นับเป็นโอกาสที่ดี เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ระหว่างนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น และจากกลุ่มอาเซียน มีสัดส่วนร้อยละ 70 : 30 ขณะที่เมียนมาร์มีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวดังกล่าวร้อยละ 35 : 65 

ดังนั้น หากไทยและเมียนมาร์มีความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงนับว่ามีโอกาสเติบโตทางการตลาดร่วมกันในระยะยาวในลักษณะเอื้ออำนวยต่อกัน โดยเน้นการพัฒนากลุ่มเครือข่ายความสัมพันธ์ในลักษณะของ Value Chain ที่นำกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ ผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือธุรกิจต้นน้ำเชื่อมโยงไปสู่ผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำให้รวมกลุ่มกันทั้งในระดับภายในประเทศไทยเองและในระหว่างประเทศ

        สำหรับกิจกรรมการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ไทย ระหว่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม Wellness นี้ จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้กับนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศ และขยายโอกาสทางการตลาดด้วยกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ณ เมืองย่างกุ้ง เมียนมาร์ 

        “เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการเปิดตลาดการค้าในกลุ่ม AEC แล้ว จะมีการสนับสนุนข้อมูลความรู้ทั้งด้านการตลาด วัตถุดิบและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs และภายใต้กิจกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 60 คู่ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท” รักษาการ ผอ.สสว. กล่าว

NEWS & TRENDS