สภาผู้ส่งออกฯประเมินส่งออกไทยปี55 โตแค่4.6%แต่อุตฯส่วนใหญ่มองทำได้แค่ 2.6% เหตุต้นทุนเพิ่ม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คู่ค้ากดราคา วอนรัฐบาลทบทวนนโยบายค่าแรง 300 บาทหวั่นผู้ประกอบการแย่แบกต้นทุนไม่ไหวถึงขั้นปิดกิจการ ทำคนตกงานเพิ่ม
สภาผู้ส่งออกฯประเมินส่งออกไทยปี55 โตแค่4.6%แต่อุตฯส่วนใหญ่มองทำได้แค่ 2.6% เหตุต้นทุนเพิ่ม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คู่ค้ากดราคา วอนรัฐบาลทบทวนนโยบายค่าแรง 300 บาทหวั่นผู้ประกอบการแย่แบกต้นทุนไม่ไหวถึงขั้นปิดกิจการ ทำคนตกงานเพิ่ม
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัยประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปี 2555 มีแนวโน้มเติบโตที่ลดลง จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 5.9% เหลือเพียง 4.6% สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World bank, IMFที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับ 2.5-3.5%
อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มส่งออกลดลงชัดเจนคือ ข้าว(-37.6%) ยาง(-26.5%) สินค้าก่อสร้าง(-22.0%)เฟอร์นิเจอร์(-19.7%) เครื่องจักรอุตสาหกรรม(-18.7%) สิ่งทอ(-17.7%)เป็นต้น โดยเฉพาะข้าวและยางลดลงมากเนื่องจากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงมากจนเกินไป ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ ยานยนต์ กระดาษ เคมี ปิโตเลียม มันสำปะหลัง เหล็ก ไก่แปรรูปและแช่แข็ง เป็นต้น สำหรับยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันสืบเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมในโครงการรถคันแรกส่งผลให้ประชาชนสั่งซื้อรถยนต์เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ทัศนคติของผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมต่างๆจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ จำนวน 293 ราย คาดการณ์การส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 2.6% โดยมองว่าส่งออกในไตรมาส 4 จะเพิ่มขึ้น 3.5% เพราะปัจจัยกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ลูกค้าหลายรายกดราคาสินค้า เช่น อุตสาหกรรมไก่สด แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ส่งไก่สดให้เข้าสู่สหภาพยุโรปได้แล้ว แต่ราคายังคงต่ำ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากนัก แม้ว่าผู้ประกอบการจะฟื้นฟูกำลังการผลิตได้เต็มที่จากสถานการณ์น้ำท่วมก็ตาม
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 293 รายคาดการณ์ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 3 ในปี 2555 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ผ่านมาลดลง -1.6% และหากนำมาเทียบกับไตรมาส 3 ในปี 2554 ลดลง -2.5% แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ยังมีทัศนคติที่ดีต่อแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 4 เพราะหวังว่าคำสั่งซื้อในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลคริสต์มาสต์และปีใหม่จะทำให้ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่อยากให้รัฐบาลมีนโยบายด้านการเงินเพื่อช่วยลดความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนและลดความเสี่ยงรวมทั้งช่วยเหลือด้านภาษี
นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า ในปี 2556 ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น300 บาททำใหผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนเช่นลดการใช้พนักงานโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีโรงงานอยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้นทั้งค่าขนส่ง ค่าบริหารการจัดการต่างๆ ทำให้บางรายอาจต้องปิดกิจการคนตกงานเพิ่มขึ้นและอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าในบางประเภทตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบในการปรับค่าแรงขึ้นซึ่งมากถึง 40% จากเดิม โดยภาครัฐควรทะยอยปรับขึ้นใน 3- 4 ปีนี้ เพื่อให้มีเวลาปรับตัวและไม่ส่งผลกระทบต่อตัวแรงงานอีกด้วย” นายวัลลภ กล่าว
ที่มา : แนวหน้า