ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจ ปชช. ใน 70 จว.ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทปีหน้า พบมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงาน 1.2 ล้านคน คาดดันอัตราว่างงานทั้งประเทศทะลุ 1.2% กระทบโครงสร้างการผลิตในท้องถิ่น หวั่นลุกลามทำลายสังคมภาคครัวเรือน
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจ ปชช. ใน 70 จว.ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทปีหน้า พบมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงาน 1.2 ล้านคน คาดดันอัตราว่างงานทั้งประเทศทะลุ 1.2% กระทบโครงสร้างการผลิตในท้องถิ่น หวั่นลุกลามทำลายสังคมภาคครัวเรือน
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยการสอบถามประชาชนใน 70 จังหวัดที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงในปีหน้า พบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.นราธิวาส จ.ตาก จ.ลำพูน จ.สระแก้ว จ.ราชบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ปัตตานี จ.ลพบุรี จ.หนองบัวลำภู และ จ.อ่างทอง
ทั้งนี้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันในทุกพื้นที่จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจในพื้นที่อื่นๆ ได้เพราะต้องแบกรับต้นทุนต่อหน่วยการผลิตที่สูงกว่าจึงจำเป็นต้องขายสินค้าที่แพงกว่าทำให้โรงงานนอกพื้นที่นำสินค้ามาตีตลาดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานที่มีศักยภาพจะไปรวมในพื้นที่เดียวกันหมด เพราะพื้นที่ที่มีโรงงานรายใหญ่ที่มีศักยภาพจะคัดเลือกคนที่เก่งๆ แล้วบีบคนไม่เก่งให้ออก ส่วนคนที่ไม่เก่งก็ต้องไปทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ ผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ ในการลดต้นทุน และการลดการใช้พนักงานลงด้วยวิธีการเลือกเฉพาะพนักงานที่มีความสามารถ ดังนั้น ภายใน 18 เดือนหลังจากที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 300 บาทแล้ว อาจมีแรงงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกงาน หรือเสี่ยงต่อการไม่มีงานทำ 1.2 ล้านคน เช่น กลุ่มที่กำลังทำงานอยู่แต่มีศักยภาพน้อย, กลุ่มที่กำลังจะหางาน, กลุ่มที่รอสัมภาษณ์งาน เป็นต้น โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้มาจากข้อเสนอของธนาคารโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความพร้อมของพื้นที่ รวมถึงระดับค่าแรงเฉลี่ยในพื้นที่ การวิเคราะห์ผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เกิดการเลิกจ้างในระดับที่แตกต่างกัน ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงเฉลี่ยของพื้นที่ ผลด้านการเลิกจ้างก็จะยิ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าหากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 40% ของค่าแรงเฉลี่ยจะเกิดปัญหาเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงานที่เป็นเยาวชน และแรงงานของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยค่าเฉลี่ยการขึ้นค่าแรงในปีหน้าส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยเกิน 40% เกือบทุกจังหวัด และมากที่สุดก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 80% ซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อันตรายมาก
ปัจจุบันการว่างงานของประชากรไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนภาวะที่แท้จริงของตลาดแรงงาน โดยปกติแล้วการมีการวิเคราะห์อัตราการว่างงานโดยใช้นิยาม ผู้ว่างงาน + ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน + ผู้ที่มีชั่วโมงทำงานต่ำ จะทำให้ผู้ว่างงานของไทยสูงถึง 5.9% หรือคิดเป็น 10 เท่าของอัตราการว่างงานตามนิยามปกติที่รัฐบาลใช้ให้นิยามผู้มีงานทำ คือผู้ที่มีรายได้จากการทำงาน 1 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นค่านิยามที่ต่ำมาก โดยผลกระทบในระยะยาว คาดว่าภายใน 2 ปีอัตราการว่างงานตามเกณฑ์การวัดของไทยจะสูงจาก 0.6% ในเดือน ก.ค. ปี 2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และถ้าคิดอัตราการว่างงานตามหลักสากลที่รวมกลุ่มผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำจะสูงถึง 15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่อันตรายมาก อย่างไรก็ตาม การไม่มีงานในส่วนของเมืองไทยคงจะไม่ลำบากเหมือนกับต่างประเทศ เพราะในบ้านเราก็สามารถที่จะเข้าช่วยครอบครัวทำนาทำไร่ได้ หรือช่วยเพื่อนในการขายของ ซึ่งกลุ่มนี้ในเมืองไทยถือว่าไม่ตกงาน “ประสบการณ์จากในกลุ่มละตินอเมริกา อเมริกา อังกฤษ และยุโรป
แสดงให้เห็นว่าหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดแล้วจะมีปัญหาการเลิกจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ การชะลอการจ้างงานเพิ่ม และโอกาสได้งานทำของเยาวชนก็น้อยลง ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต้องการทำงานแต่หางานทำไม่ได้ หากคุณภาพชีวิตต่ำลงในอนาคตก็จะเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย