นักเศรษฐศาสตร์ 64.3% ชี้ค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วปท.ไม่เหมาะ ต้องอุ้มผู้ประกอบ SMEs
นักเศรษฐศาสตร์ 64.3% ชี้ค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วปท.ไม่เหมาะ ต้องอุ้มผู้ประกอบ SME
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 70 คน เรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย”โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-19 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 64.3 เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วประเทศใน 70 จังหวัดที่เหลือแล้วคงที่ไว้เป็นเวลา 2 ปี (ปี 2557-2558) เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกทาง โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า ธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันโดยเฉพาะ SME ที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงศักยภาพทางธุรกิจในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน
ขณะที่ร้อยละ 18.6 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกทางแล้ว โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อ เพิ่มการกระจายรายได้ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เมื่อถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาทต่อวันเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่ ร้อยละ 72.9 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ร้อยละ 17.1 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ารัฐบาลควรดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้อยู่ในระดับต่ำไม่เกินร้อยละ 3.45 ต่อปี และเห็นว่าหากเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 4.56 ต่อปี รัฐบาลควรมีการทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำก่อนเวลาที่กำหนดไว้ (ที่กำหนดให้คงที่ 2 ปี) ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ คือ อันดับ 1 สินค้าจะเพิ่มขึ้น/เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 85.7) อันดับ 2 การเลิกกิจการของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ที่จะเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 68.6) อันดับ 3 การจ้างแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 62.9) อันดับ 4 การย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นของผู้ประกอบการ (ร้อยละ 61.4)
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME เพิ่มเติม (นอกเหนือจากการลดภาษีนิติบุคคล) เช่น การช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าและด้านตลาด มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่มีปัญหา การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ เป็นต้น