TIPMSE เปิดตัวร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ณ ชุมชนเคหะดินแดง ร้านต้นแบบแห่งล่าสุด ที่พัฒนามาจาก ธนาคารขยะออมทรัพย์ พร้อมเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ฝากด้วยการรับคูปองเงินสดนำไปแลกสินค้าอุปโภค บริโภคในร้าน 0 บาท ได้ตามความพอใจ
TIPMSE เปิดตัวร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ณ ชุมชนเคหะดินแดง ร้านต้นแบบแห่งล่าสุด ที่พัฒนามาจาก ธนาคารขยะออมทรัพย์ พร้อมเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ฝากด้วยการรับคูปองเงินสดนำไปแลกสินค้าอุปโภค บริโภคในร้าน 0 บาท ได้ตามความพอใจ
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) เปิดเผยว่า จากการที่ TIPMSE ได้ทำการเปิดตัวร้าน 0 บาทสาขาแรกที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้สังคมรีไซเคิลของ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการขยะด้วยวิถีของความพอเพียง และสามารถตอบโจทย์เรื่องปากท้องของผู้มีรายได้น้อย การจัดทำสวัสดิการให้สมาชิกในชุมชนด้วยขยะ และการทำสวนเกษตรคนเมืองที่มีการใช้ประโยชน์จากการแปรรูปขยะได้อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังมีบุคคลทั่วไปที่สนใจที่ได้มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร้าน 0 บาท ซึ่งถือเป็นต้นแบบอันดีของร้านค้าที่รับวัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด และเป็นนวัตกรรมใหม่ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง เพื่อให้ร้าน 0 บาท อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน, ช่วยลดค่าครองชีพ และสร้าง “วัฒนธรรมใหม่ คนรุ่นใหม่ ร่วมใจกันคัดแยกขยะ”
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดตัวโครงการร้าน 0 บาท ที่ผ่านมา ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากคนไทยจากทั่วประเทศที่ติดต่อขอเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ ซึ่งปัจจุบัน ได้ทำการอบรมแล้ว 2 รุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมรวม 40 ราย จนล่าสุดสามารถเปิดร้าน 0 บาท แห่งที่ 2 ได้สำเร็จภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มรวมมิตร 2011 ณ ชุมชนเคหะดินแดง
สำหรับร้าน 0 บาทสาขานี้ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของร้าน 0 บาท ที่ได้มีการต่อยอดมาจากการทำธนาคารขยะออมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มรวมมิตร 2011 ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมรีไซเคิลของ TIPMSE ที่มีการส่งเสริมการจัดการวัสดุรีไซเคิลในที่อยู่อาศัย ซึ่งเห็นว่าแนวคิดร้าน 0 บาท เป็นแนวทางที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในกลุ่ม และมองว่าจะเป็นสวัสดิการพร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับสมาชิกที่นำวัสดุรีไซเคิลมาฝากได้
ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นการต่อยอดจากธนาคารขยะออมทรัพย์ โดยลูกค้าสามารถนำขยะมาฝากธนาคารโดยธนาคาร จะตีมูลค่าเป็นเงิน พร้อมนำฝากในสมุดคู่ฝาก หรือ หากสมาชิกรายใด ต้องการนำขยะดังกล่าวแลกเป็นสินค้า ก็สามารถรับเป็นคูปองเงินสด เพื่อจะนำไปแลกสินค้าที่ร้าน 0 บาทได้ตามมูลค่าในคูปอง ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของร้าน 0 บาท ที่ได้มีการปรับรูปแบบในการดำเนินการให้เหมาะสมกับชุมชนของตน