สกส.ออกตรา SE Mark มอบแก่ผู้ประกอบการที่มีกิจการเพื่อสังคม และคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
สกส.ออกตรา SE Mark มอบแก่ผู้ประกอบการที่มีกิจการเพื่อสังคม และคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายมงคล เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติกล่าวว่า จากสภาพปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายหน่วยงานพยายามยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็เป็นได้ในบางครั้งคราวเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะยาว วิธีการจะทำให้ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน คือ การทำให้ชุมชนหรือพื้นที่ที่เกิดปัญหาสามารถดูแลจัดการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือรอคอยงบประมาณจากใคร มีทุนที่สามารถบริหารจัดการดูแลตัวเองได้ โดยอาจทำในรูปแบบของธุรกิจที่เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม”
กิจการเพื่อสังคม คือ อะไร? หากจะอธิบายชัดๆ ให้เข้าใจได้ง่าย กิจการเพื่อสังคมก็คือ จุดบาลานซ์ระหว่างการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและการมีกิจการ เพื่อสร้างรายได้ เรียกว่าทำธุรกิจไปด้วย ทำเพื่อสังคมไปด้วย ดังนั้น คนที่จะทำกิจการเพื่อสังคมได้ คือ 1. มีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ปัญหา สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม 2. มีรายได้จากการประกอบธุรกิจด้วย 3.ไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด แต่อาจนำเงินกำไรไปในภาคสังคมด้วย ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย ได้แก่ สหกรณ์เลมอนฟาร์ม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โอเพ่นดรีม
จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ หรือ สกส. เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ที่ทำธุรกิจโดยหวังช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วนให้กับสังคม ให้สามารถเติบโต ยืนหยัดทำหน้าที่ต่อไปในสังคมได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไปนัก
สำหรับสกส.เราก่อตั้งมาได้ 2 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ให้เขาได้ประกอบกิจการและช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ปัญหามีเกิดขึ้นมากมาย หากเราไม่หันมาใส่ใจดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมที่เป็นไป ธุรกิจเองก็อยู่ไม่ได้ โดยผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ทำงานยากกว่าผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปอยู่แล้ว เพราะมีเรื่องสังคมเข้ามาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องผลิตภัณฑ์ ดังนั้น หน้าที่ของเรา คือ การพยายามสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้ได้มากที่สุด”
โดยบทบาทหน้าที่หลักของ สกส. สามารถแบ่งออกเป็น 4 แนวทางด้วยกัน คือ 1. การสร้างการรับรู้และเรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ 2. พัฒนารูปแบบและขีดความสามารถของกิจการและผู้ประกอบการเพื่อสังคม 3. พัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรสำหรับกิจการเพื่อสังคม 4. พัฒนากลไกเชิงนโยบาย เช่น ข้อกฎหมายต่างๆ
อีกวิธีการหนึ่งที่ สกส.เลือกสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมให้น่าเชื่อถือ น่ายกย่อง คือ การออกตรา SE Mark ซึ่งคล้ายกับการให้เบอร์ 5 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ ว่ากิจการนี้นะเป็นกิจการให้ผลกระทบทางสังคมดีนะ ดังนั้น เราก็เชื่อว่าบริบทของคนที่ทำเรื่องนี้เองค่อยๆ อยากทำมากขึ้น ถึงแม้เราจะรับปากไม่ได้ว่า เมื่อคุณได้ SE Mark แล้ว คุณจะได้ลดเปอร์เซ็นต์ภาษี หรือได้รับเงินสนับสนุนมากน้อยยังไงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่ามีสังคมธุรกิจพวกนี้อยู่ และเชื่อว่าการกระตุ้นการขายของเราจะทำให้ผู้บริโภคเองหันมาซื้อสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจะได้อยู่ได้ ซึ่งกำลังวางรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ที่ควรได้รับตรานี้อยู่
ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติมองว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตที่ควรรับมือเตรียมไว้มีหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งหากผู้ประกอบการเพื่อสังคมสามารถสร้างธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ย่อมส่งผลดีต่อประเทศชาติและตัวเองด้วย
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น การว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ที่เข้ามาหางานทำอยู่แต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ นี่คือ 4-5 ประเด็นของสภาพปัญหาที่ผมมองว่าเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันของบ้านเรา ซึ่งหากเราสามารถนำธุรกิจมาจับเพื่อแก้ไขปัญหาได้ น่าจะช่วยสังคมได้มาก แต่คำถาม คือ เราจะเชื่อมโยงให้เข้ากันได้ยังไง เราจะเป็นกลไกแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ต้องพยายามสร้างมุมมองเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเยอะๆ ในสังคมไทย”