กระทรวงอุตฯ ลงพื้นที่ตรวจเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 6 นิคมฯ พบก่อสร้างไปแล้วกว่า 85% มั่นใจสามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน
กระทรวงอุตฯ ลงพื้นที่ตรวจเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 6 นิคมฯ พบก่อสร้างไปแล้วกว่า 85% มั่นใจสามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคืบการสร้างแนวป้องกันน้ำถาวรของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้ง 6 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี พบว่ามีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 85% และคาดว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในส่วนของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้ว 97% สวนอุตสาหกรรมโรจนะ คืบหน้า 95% นิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) คืบหน้าไปแล้ว 90% สวนอุตสาหกรรมบางกะดี 85% นิคมฯ บางปะอิน 80% ขณะที่นิคมฯ สหรัตนนคร ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก ในการจัดกำลังพลจำนวน 5 หน่วย พร้อมยุทโธปกรณ์ เครื่องจักรจำนวน 5 ชุด เข้าไปร่วมสร้างเขื่อนดิน ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 10%
รวมการสร้างแนวป้องกันน้ำถาวรทั้งหมด 6 แห่ง มีระยะทางประมาณ 143 กิโลเมตร วงเงินรวม 3,236 ล้านบาท ขณะที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคทอรี่แลนด์นั้น ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แต่เตรียมการด้วยวิธีอื่น
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจ่ายเงินสนับสนุนเงินจำนวน 2 ใน 3 ของรัฐบาล วงเงิน 3,236 ล้านบาท ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการนิคมฯ 6 นิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมในการสร้างแนวป้องกันน้ำถาวรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มเบิกจ่ายเงิน และอยู่ระหว่างขั้นตอนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ต้องลงไปตรวจสอบการก่อสร้าง และส่งเรื่องเบิกจ่ายมายังสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนยื่นเรื่องขอเบิกจ่ายงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ
“ปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าทุกนิคมฯ จะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี มีการเตรียมความพร้อม ติดตั้งระบบการระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และจะไม่เกิดความเสียหายจากอุทกภัยเช่นปีที่ผ่านมา แม้ว่าตอนนี้จะมีข่าวน้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัยแล้ว แต่ก็เชื่อว่าปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก” นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 839 ราย กลับมาดำเนินกิจการได้เต็มที่แล้ว 403 ราย เปิดกิจการบางส่วน 280 ราย ปิดกิจการไปแล้ว 59 ราย และที่เหลืออีก 97 ราย อยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม
ขณะที่การฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นอกนิคมฯ ที่ประสบอุทกภัยนั้น โรงงานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีทั้งหมดจำนวน 761 ราย เปิดดำเนินการเต็มที่ไปแล้ว 511 ราย และเปิดดำเนินการบางส่วนจำนวน 153 ราย และมีโรงงานที่ปิดกิจการเพียง 7 โรงงานเท่านั้น ที่เหลืออีก 90 ราย อยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม
ด้านสถานประกอบการของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีทั้งหมด 7,138 ราย และได้เปิดดำเนินกิจการไปแล้วทุกราย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อไป