สกศ. จับมือ บริติช เคานซิล หนุนไทยผู้นำอาเซียน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ขานรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ชูประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียน โดยได้จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง ‘ASEAN’s Creative Economies: educating tomorrow’s leaders – Thailand Forum’ เพื่อริเริ่มผลักดันสังคมไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวเพิ่มมูลค่า ซึ่ง ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม รองเลขาธิการสภาการศึกษา ประธานการสัมมนา เสนอว่าให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรให้รองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ขานรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ชูประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียน โดยได้จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง ‘ASEAN’s Creative Economies: educating tomorrow’s leaders – Thailand Forum’ เพื่อริเริ่มผลักดันสังคมไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวเพิ่มมูลค่า ซึ่ง ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม รองเลขาธิการสภาการศึกษา ประธานการสัมมนา เสนอว่าให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรให้รองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายประเทศในโลกเริ่มตระหนักถึงบทบาทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศหรือภูมิภาคมีความสามารถทางการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การจะก้าวเข้าสู่สังคม และเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ การมีความคิดนอกกรอบจากแบบเดิมๆ การคิดค้นนวัตกรรม และแปลงความคิดเหล่านั้นให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ จะต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมเสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จนั้น เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการเผยแพร่แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

ก่อนหน้านี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบการศึกษาของไทย และได้เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องดังกล่าว ณ สหราชอาณาจักร มร.ดันแคน วิลสัน รองผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล    ได้ช่วยจุดประกายการแลกเปลี่ยนความคิดและความร่วมมือระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร เราดีใจที่ภาครัฐ และภาคการศึกษาของไทยนำความรู้ที่ได้จากการเดินทางไปศึกษาต้นแบบเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลับมาสานต่อเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมต่อไป ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย   ที่กล่าวถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างจริงจัง 

งานสัมมนาครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหราชอาณาจักรได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่าน  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ รวมไปถึงการสำรวจโอกาสและความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องเผชิญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งด้านบุคลากร มาตรการทางกฎหมาย บทบาทของรัฐในการสนับสนุนและจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน  โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนานโยบายการศึกษา และปฏิรูประบบการเรียนการสอนของไทยต่อไป
 

NEWS & TRENDS