รัฐร่วมเอกชนดันโอทอปโกอินเตอร์

สสว.ร่วมมือ กระทรวงคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงไอซีที รวมทั้งหอการค้าไทย และ อสมท. ดันโครงการ OTOP PLUS ต่อยอดสินค้า OTOP ระดับ 4-5 ดาว ผ่านคัดเลือกเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยกลไกความร่วมมือทางการตลาดของทั้ง 6 หน่วยงาน พร้อมเปิดร้าน Online เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าใหม่อีกกว่า 800 ร้านค้า เชื่อมั่นการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้จะช่วยให้ OTOP ไทย เป็นกลไกลทำงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งได้ดียิ่งขึ้น

 


สสว.ร่วมมือ กระทรวงคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงไอซีที รวมทั้งหอการค้าไทย และ อสมท. ดันโครงการ OTOP PLUS ต่อยอดสินค้า OTOP ระดับ 4-5 ดาว ผ่านคัดเลือกเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยกลไกความร่วมมือทางการตลาดของทั้ง 6 หน่วยงาน พร้อมเปิดร้าน Online เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าใหม่อีกกว่า 800 ร้านค้า เชื่อมั่นการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้จะช่วยให้ OTOP ไทย เป็นกลไกลทำงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งได้ดียิ่งขึ้น 

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP PLUS) เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการยกระดับความสามารถ และขยายโอกาสทางการตลาดวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ สร้างจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการบนพื้นฐานองค์ความรู้ และการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
“โครงการ OTOP PLUS จะมุ่งพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 4-5 ดาว ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการขยายโอกาสทางการตลาด ซึ่งในการดำเนินงาน กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และองค์กรเอกชนคือ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ บมจ. อสมท เพื่อบูรณาการความร่วมมือตามนโยบายรัฐบาล” รักษาการแทน ผอ.สสว. กล่าว 

สำหรับการดำเนินงาน ประกอบด้วย กิจกรรมการเพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP (OTOP NEXT) บนแนวคิด Value Creation โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 200 ราย 200 ผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่  เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 2 รายต่อจังหวัด 

ขณะเดียวกันจะร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นผู้พัฒนาทั้งองค์ความรู้ การจัดการสมัยใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย กิจกรรมการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาจาก OTOP NEXT และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการตลาด ได้มีช่องทางการขายสินค้าทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการ OTOP PLUS ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ OTOP ให้พัฒนาจากผู้ผลิตที่ตอบสนองความต้องการระดับท้องถิ่น ไปสู่การตอบสนองความต้องการในระดับสากลโดยรักษาอัตลักษณ์ความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 200 ราย สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ผู้ประกอบการมีเว็ปไซต์เป็นของตนเองไม่น้อยกว่า 800 ราย ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
 

NEWS & TRENDS