กูรูมองการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน แรงงานไม่ได้ประโยชน์ เพราะราคาสินค้าปรับขึ้นตามไปด้วย ยิ่งเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับราคา เพราะมีการปรับค่าแรงทำให้ต้นทุนเพิ่ม หากไม่ทำก็เดือดร้อนเช่นกัน แนะรัฐควรหามาตรการรองรับด้วย
กูรูมองการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน แรงงานไม่ได้ประโยชน์ เพราะราคาสินค้าปรับขึ้นตามไปด้วย ยิ่งเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับราคา เพราะมีการปรับค่าแรงทำให้ต้นทุนเพิ่ม หากไม่ทำก็เดือดร้อนเช่นกัน แนะรัฐควรหามาตรการรองรับด้วย
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ รัฐบาลจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้านั้น เชื่อว่า จะส่งผลต่อการบริโภคให้เพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมากนัก โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อต้นทุนของ SME ภาครัฐจะต้องหามาตรการในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ด้วย เพื่อรักษาภาคธุรกิจไว้ เพราะเห็นว่ามาตรการในเรื่องภาษี ไม่ได้ส่งผลดีต่อ SME เท่าที่ควร
ด้านนายบุญชัย วิเคราะห์ถึงการปรับค่าแรงว่าการปรับขึ้นค่าแรง 30-40% จะไม่มีประโยชน์ถ้าหากมีการปรับราคาสินค้าอื่นขึ้นไป 100% หรือปรับมากกว่าค่าแรง รัฐบาลต้องคำนึงถึงประเด็นนี้และหาทางลดค่าใช้จ่าย ลดภาระลงให้ได้จะเป็นการเหมาะสมที่สุด เพราะขณะนี้บรรยากาศการใช้จ่ายน้อยลง อารมณ์คนใช้จ่ายน้อยลง อาจจะเป็นเพราะเป็นห่วง อาหารการกินแพง ไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย ไม่ออกไปชอปปิง ถ้าออกไปก็หาของถูก อารมณ์ผู้บริโภคเป็นแบบนี้เงินสะพัดน้อยลง จิตวิทยาบอกว่าของแพง ควรออมมากกว่า การใช้จ่ายจึงซบเซา
นอกจากนี้ การปรับค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัดช่วงแรก ก็ได้มีการปรับราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว ต้องมาพิจารณาว่าการปรับรอบ 2 ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า จะมีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้ารอบ 2 หรือไม่ ถ้าหากปรับราคาสินค้า 2 ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ในการปรับค่าแรง ที่หวังเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน
สำหรับการปรับรายได้ ไม่ได้ส่งผลดีกับแรงงาน ถ้าปรับราคาสินค้า ซึ่งรายย่อยที่เป็นเอสเอ็มอีก็บอกต้องปรับราคา เพราะมีการปรับค่าแรง รัฐบาลต้องหามาตรการดูแลต้องไม่ให้มีการฉวยโอกาส ฉะนั้นแนะนำให้ผู้ประกอบการปรับตัวด้วยการลดต้นทุน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการแรงงาน มองในทางเดียวกันว่าการเพิ่มค่าแรง 300 บาท ถ้าเพิ่มขึ้นแต่ราคาสินค้าไม่เพิ่ม จะทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่รัฐบาลเสรีประชาธิปไตย ไม่สามารถคุมตลาดสินค้าได้
แม้การปรับค่าแรงทำให้รายได้แรงงานเพิ่ม แต่ปัญหาคือค่าแรงยังไม่ขึ้น สินค้ากลับขยับราคาขึ้นไปรอแล้ว จากที่ผ่านมาบอกปรับ ม.ค. 2555 แต่ทำไม่ได้ เลื่อนมาปรับ เม.ย. 2555 ซึ่งสินค้าก็ขึ้นราคาไปรอก่อนแล้ว ทำให้ประชาชนต้องซื้อของแพงขึ้น เงินลดค่าลง จุดนี้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก
ในกรณีค่าจ้างในกรุงเทพปรับขึ้นขึ้น แต่ค่าจ้างต่างหวัดยังคงเท่าเดิม ผิดจากสินค้าที่ขึ้นราคาทั่วประเทศ จึงกลับกลายเป็นว่าค่าจ้างต่างจังหวัดเลวร้าย รัฐบาลควรพิจารณาให้ค่าจ้างเพิ่มมากกว่าเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างได้ประโยชน์
นอกจากนี้รัฐบาลควรให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นกับแรงงาน โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ เช่น ให้ฟรีการศึกษา รักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ทางสังคม เพราะหากปรับค่าแรงแล้วคิดว่าได้เงินเพิ่มขึ้นให้ไปซื้อเองนั้นสินค้าหรือบริการที่แพงขึ้น จะทำให้แรงงานได้ประโยชน์น้อยจากปรับค่าแรง