กระทรวงงานยันมติเดิมดีเดย์ค่าจ้าง 300 บาท 1 ม.ค. ปี 56 ชี้ 7 จังหวัดนำร่องไม่ส่งผลกระทบอัตราว่างงาน ด้านเอกชนสวนทันควันเอสเอ็มอีเดือดร้อนหนักแน่หากขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ วอนเลื่อนเป็นปี 56 มิฉะนั้นอาจผลักภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ซึ่งทุกวันนี้สูงอยู่แล้วและรัฐยังแก้ปัญหาไม่ได้
กระทรวงงานยันมติเดิมดีเดย์ค่าจ้าง 300 บาท 1 ม.ค. ปี 56 ชี้ 7 จังหวัดนำร่องไม่ส่งผลกระทบอัตราว่างงาน ด้านเอกชนสวนทันควันเอสเอ็มอีเดือดร้อนหนักแน่หากขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ วอนเลื่อนเป็นปี 56 มิฉะนั้นอาจผลักภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ซึ่งทุกวันนี้สูงอยู่แล้วและรัฐยังแก้ปัญหาไม่ได้
น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในพื้นที่ 70 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 57-58
สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางยืนยันตามมติเดิมหลังได้ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ที่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัด เพิ่มขึ้น 39.5% หรือมีอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ สำหรับอัตราการว่างงานในรอบ 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 0.8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.1% และการเลิกจ้างที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างมีเพียง 2 แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 144 คน ปลัดกระทรวงแรงงาน คาดว่าจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้
ด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางนั้น ในส่วนของ ส.อ.ท. อยากวิงวอนขอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2556 ออกไปก่อน โดยอยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างทยอยปรับในปี 2557-2559 แทน เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีเวลาปรับตัวมากขึ้น
เพราะขณะนี้เอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดที่เพิ่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 39.5% ค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว และการปรับค่าจ้างยังทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการที่ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกจนถึงขณะนี้ หากต้องปรับขึ้นค่าแรงในส่วนจังหวัดที่เหลืออีกย่อมจะทำให้เอสเอ็มอีเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะไม่จัดทำข้อเสนอนี้ไปให้หน่วยงานของรัฐอีก เพราะที่ผ่านมาได้ทำข้อคิดเห็นต่อผลกระทบและข้อเสนอแนะไปให้พิจารณาแล้ว แต่ทางภาครัฐไม่เห็นด้วย
ขณะที่ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจ “สถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบัน” พบว่า หลังจากปรับขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการ 47.2% ปรับตัวโดยการเพิ่มราคาสินค้า 34.2% ลดสวัสดิการ 32.1% ลดจำนวนแรงงาน 8.5% ใช้เครื่องจักร และ 7.6% จ้างแรงงานต่างด้าว
ขณะเดียวกันการเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ 94.5% ยังไม่ได้รับ มีเพียง 5.5% ที่ได้รับการเยียวยา ส่วนมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี