ปัญหาความไม่สงบส่งผล เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 5,000 รายเดือดร้อน ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ วิงวอนรัฐช่วยแก้ปัญหาจริงจัง
ปัญหาความไม่สงบส่งผล เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 5,000 รายเดือดร้อน ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ วิงวอนรัฐช่วยแก้ปัญหาจริงจัง
นายทวี แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างมาก กรณีที่ลูกค้าหลายรายได้ยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือลดปริมาณคำสั่งซื้อลง หลังจากระยะหลังการก่อปัญหาความไม่สงบและการวางระเบิดตามพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากลูกค้ากังวลว่าผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามกำหนด ดังนั้นผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 มีหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมระดับเอสเอ็มอีในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง แต่ที่เป็นห่วงคือโรงงาน จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ที่ส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าประเภทอาหาร เครื่องแต่กาย เครื่องประดับ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยังส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายประสบปัญหาการขาดแคลนสต็อกสินค้า เนื่องจากเอสเอ็มอีบางรายไม่สามารถป้อนสินค้าได้ตามกำหนดที่วางไว้
“หากปัญหาการระเบิดยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชะลอตัวทันที โดยเฉพาะการจ้างงาน เนื่องจากลูกค้ากังวลว่าเมื่อสั่งออเดอร์แล้วจะไม่ได้สินค้าทันตามกำหนด เหมือนกับกรณีการเกิดน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว ที่พบว่าโรงงานจำนวนมากถูกยกเลิกออเดอร์หลังจากไม่สามารถส่งสินค้าได้”นายทวีกล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นยังทำให้นักลงทุนรายใหม่ไม่กล้าเข้ามา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิทธิประโยชน์ที่สูงก็ตาม ส่วนใหญ่ที่มีการลงทุนก็จะเป็นการขยายกำลังการผลิตของรายเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ก็ไม่มากนัก ดังนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีนโยบายในการลงทุนสร้างโรงงาน 3 แห่ง ใน 3จังหวัด วงเงิน140 ล้านบาท เพื่อนำร่องให้ภาคเอกชนรายอื่นได้ลงทุนตามในภายหลัง
หลังจากสร้างเสร็จแล้วกรมฯ ก็ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการในการดำเนินกิจการ โดยจะเป็นกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งแต่จะโรงงานสามารถจ้างงานได้แห่งละ 300 คน โดยแรงงานจะมีรายได้เฉลี่ยที่ 250-300 บาทต่อวัน เบื้องต้นโครงการนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะหากภาครัฐไม่ลงทุนเองเชื่อว่าในอนาคตอาจมีปัญหาการว่างงานได้
นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการเข้าฝึกอบรมให้ความผู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคใต้ตอนล่าง เช่น จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัด พัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัด นราธิวาส และจังหวัดปัตตานี เป็นต้น ในการจัดทำแผนงานรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เบื้องต้นจะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยรวมกลุ่มกันเพื่อไปจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งเรื่องการพิจารณาการร่วมทุน การเชื่อมโยงธุรกิจการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ การทำตลาดร่วมกันในอาเซียน และนอกกลุ่มประเทศอาเซียน