หอการค้าเสนอ 9 มาตรการให้รัฐทำเร่งด่วนเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมจี้ทบทวนขึ้นค่าแรงต้นปีหน้า หวั่นเอสเอ็มอีเจ๊งระนาว
หอการค้าเสนอ 9 มาตรการให้รัฐทำเร่งด่วนเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมจี้ทบทวนขึ้นค่าแรงต้นปีหน้า หวั่นเอสเอ็มอีเจ๊งระนาว
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดทำแผนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ขณะนี้กำลังขยายวงกว้าง ทั้งจากวิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซน และสหรัฐ ที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยหากรัฐบาลต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 5-6% และไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 56 จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยแบ่งเป็นมาตรการที่ภาครัฐต้องดำเนินการในทันที 9 มาตรการ และมาตรการที่ภาครัฐต้องดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนอีก 4 มาตรการ
สำหรับ 9 มาตรการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.รัฐบาลควรเร่งอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รองรับการชะลอตัวลงของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลควรดูแลเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นควบคู่ไปด้วย 2.รัฐบาลควรส่งเสริมและเอื้ออำนวยให้การค้าชายแดนขยายตัวได้อย่างดีต่อเนื่อง จากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความต้องการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคและการลงทุนในระดับสูง
3.รัฐบาลควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ 4.รัฐบาลควรสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในเมืองไทยในช่วงที่การส่งออกได้รับผลกระทบ 5.รัฐบาลควรส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐประชุมหรือดูงานภายในประเทศแทนการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 6.รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการเร่งรัดในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม และประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของการจัดการให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การลงทุนและการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
7.รัฐบาลควรดูแลด้านการเมืองให้มีเสถียรภาพ ไม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการชุมนุมประท้วง เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนในประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศ 8.รัฐบาลควรเตรียมมาตรการทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจเพื่อบรรเทาปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายูโรโซน 9.รัฐบาลควรดูแลสถานการณ์ราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อต้นทุนค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ส่วนมาตรการที่ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน จะต้องร่วมกันหาตลาดการส่งออกสินค้าใหม่ และรักษาตลาดส่งออกเดิมโดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนมากนัก และเฉพาะตลาดยุโรป จะต้องเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเร็ว ต้องส่งเสริมให้การค้าชายแดนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ดึงดูดภาคการท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น และต้องส่งเสริมการประชุมหรือดูงานภายในประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้แรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นสอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะปรับให้เท่ากันทั่วประเทศในปีหน้า เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน
นอกจากนี้ อยากให้ทบทวนเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ที่กำหนดทั่วประเทศในต้นปีหน้าไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะปีหน้าจะแย่กว่าปีนี้มาก ซึ่งจากการสำรวจผลกระทบหลังปรับค่าแรงงานนำร่อง 7 จังหวัด พบว่าการใช้จ่ายลดลง เพราะมีการปิดตัวของธุรกิจ SME ไปแล้ว 7% ซึ่งเกิน 5% ถือว่าน่ากังวล โดย SME มีสัดส่วน 97% ของธุรกิจรวม เดิมนั้นคาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่ม แต่กลับลดลง ภาคแรงงานกังวลว่าหากปรับเพิ่มค่าแรงงานเท่ากันทั้งประเทศ โครงสร้างทางธุรกิจจะเปลี่ยนไปและหันใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยแทนแรงงานคน ก็จะทำให้การตกงานเพิ่มขึ้น