กสิกรไทยจัดอบรมเจาะลึก ติดอาวุธ SME บุกอาเซียน

ธนาคารกสิกรไทยผนึกกำลังนักวิชาการชั้นนำด้านอาเซียน จัดโครงการ K SME Moving toward AEC โปรแกรมพัฒนาเอสเอ็มอีครบวงจร ตั้งแต่อบรมเข้มข้นแบบเจาะลึกการค้าการลงทุนรายประเทศ เดินทางไปดูงาน การทำกรอบแผนธุรกิจ และประเมินศักยภาพธุรกิจผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีไทยเป็นธุรกิจข้ามชาติรองรับเออีซีปี 58

 

 
ธนาคารกสิกรไทยผนึกกำลังนักวิชาการชั้นนำด้านอาเซียน จัดโครงการ K SME Moving toward AEC โปรแกรมพัฒนาเอสเอ็มอีครบวงจร ตั้งแต่อบรมเข้มข้นแบบเจาะลึกการค้าการลงทุนรายประเทศ เดินทางไปดูงาน การทำกรอบแผนธุรกิจ และประเมินศักยภาพธุรกิจผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีไทยเป็นธุรกิจข้ามชาติรองรับเออีซีปี 58 
 
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเปิดตลาดการค้าเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 จะทำให้ตลาดการค้าของ 10 ประเทศสมาชิกหลอมรวมกัน เป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถเข้าไปต่อยอดธุรกิจได้อีก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันที่จะตามมาและช่วงชิงโอกาส อย่างไรก็ดี ยังมีเอสเอ็มอีไทยอีกมากที่มีศักยภาพที่จะทำธุรกิจในตลาดนี้ได้ แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปศึกษาธุรกิจในประเทศเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ธนาคารกสิกรไทยจึงมีโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ตลาดอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง
 
ล่าสุด ธนาคารฯ จัดโครงการ K SME Moving toward AEC โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแบบเจาะลึกประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับแนวทางการทำธุรกิจในประเทศอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยจะจัดหลักสูตรเน้นประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนสูงเป็นอันดับแรก ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
 
  โดยเริ่มต้นที่พม่าเป็นประเทศแรก ในหลักสูตรจะประกอบด้วยบทเรียน 4 โมดุล (Module) ได้แก่ การอบรมเชิงลึกให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศในอาเซียนประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นข้อมูลในบริบทมหภาคทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ความรู้แบบเจาะลึกถึงลู่ทางการค้าการลงทุน พร้อมแง่มุมที่น่าสนใจในการทำธุรกิจในประเทศอาเซียนดังกล่าว โดยมีวิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและผู้แทนจากบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จในประเทศกลุ่มนี้มากว่า 2 ทศวรรษ
 
  การพาผู้ประกอบการไปทัศนศึกษาสภาพเศรษฐกิจและเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการ พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อเป็นโอกาสได้เข้าไปสัมผัสสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจริงและพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจในประเทศเป้าหมายด้วยตนเอง และการร่วมกันสรุปประเด็นที่สำคัญจากการเดินทางไปศึกษาดูงาน พร้อมประเมินศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละราย ผ่านทางเครื่องมือการวางแผนธุรกิจ (The Business Model Canvas) รวมทั้งให้คำปรึกษาพร้อมจัดทำกรอบแผนธุรกิจ (AEC Business Blueprint) ให้แก่ผู้ประกอบการที่ร่วมอบรม เพื่อเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการส่งธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน 
 
นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ K SME Moving toward AEC นี้ นอกจากจะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้แก่ผู้ประกอบการแบบเจาะลึกรายประเทศแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะดึงศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจข้ามชาติ พร้อมบุกตลาดอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเมื่อจบหลักสูตร ผู้ประกอบการจะได้รับแนวทางการทำธุรกิจในตลาดอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ที่ปรึกษาวิชาการกลุ่มวิจัยอิสระ ASEAN Business Intelligence และผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC เปิดเผยว่า ความเข้มข้นของหลักสูตรนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีได้ทั้งองค์ความรู้เชิงลึก พร้อมแนวทางในการนำธุรกิจของตนเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในโมดุลสุดท้ายของหลักสูตร ผู้ประกอบการจะได้รับเครื่องมือการวางแผนธุรกิจ (The Business Model Canvas) คือ การประเมินศักยภาพและวิเคราะห์ธุรกิจของผู้ประกอบการ เริ่มจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การออกแบบคุณค่า (Value) ที่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวต้องการ รวมทั้งการจัดทำกรอบแผนธุรกิจ (AEC Business Blueprint) ซึ่งเป็นการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบและทรัพยากรหลัก การหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner)  ออกแบบกระบวนการผลิต ไปจนถึงการวิเคราะห์แนวการกระจายสินค้าและบริการ ถือว่าเป็นการวิเคราะห์แบบองค์รวมช่วยให้ผู้ประกอบการได้แผนธุรกิจที่มีความครอบคลุม 
 
นายวินัย วิโรจน์จริยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนนินซูลาร์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการนี้ จึงได้มีการนำองค์ความรู้ทั้งหมด จัดทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในประเทศต่าง ๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย สิ่งที่ต้องพึงระวังในการทำธุรกิจของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งข้อมูลประสบการณ์การทำธุรกิจจริงของผู้ประกอบการไทย ในประเทศอาเซียน ทั้งในแง่มุมของความสำเร็จและความผิดหวัง และพิเศษคือการนำตัวอย่างกรอบแผนธุรกิจ (AEC Business Blueprint) ของประเภทธุรกิจหลักที่เอสเอ็มอีไทยให้ความสนใจ มาประกอบเป็นเนื้อหาในพ็อคเก็ตบุ๊ค เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้นำไปปรับใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการทำธุรกิจในตลาดอาเซียนต่อไป
 
นายพัชร กล่าวตอนท้ายว่า นอกเหนือจากการจัดโครงการเสริมสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการรับมือ AEC ธนาคารกสิกรไทยก็เตรียมความพร้อมด้านการให้บริการในตลาดอาเซียน โดยเดินหน้าสร้างพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่นในประเทศสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โมเดล Asian Alliance เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการทางการเงินให้ครอบคลุม ทั้งในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน และอาเซียนบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่ง ณ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีพันธมิตรธนาคารท้องถิ่นในแถบนี้จำนวนทั้งสิ้น 32 ธนาคาร คิดเป็นเครือข่ายสาขาบริการกว่า 9,300 สาขา ทั่วภูมิภาค พร้อมที่จะรองรับการทำธุรกิจของผู้ประกอบการและธุรกิจไทยที่จะขยายตัวสู่ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นในอนาคต
 

NEWS & TRENDS